เปิดผลตรวจ "พลายขุนเดช" หลัง "กัญจนา" โพสต์ขอโทษ พร้อมทำทุกอย่างชดเชย
เปิดผลตรวจ "พลายขุนเดช" หลัง "กัญจนา" โพสต์ขอโทษ พร้อมทำทุกอย่างชดเชย พบขาหน้าซ้ายผิดรูป-กระดูกสันหลังเป็นรูปตัว S
จากกรณีดราม่าเรื่องช้างระหว่าง "หนูนา" กัญจนา ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีต รมช. ศึกษาธิการ กับ "แสงเดือน ชัยเลิศ" ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเจ้าของศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมา "ป้าเล็ก แสงเดือน" โพสต์ข้อความว่า มีช้างตัวผู้ 2 เชือก ชื่อพลายขุนเดช และพลายดอกแก้ว ที่คุณหนูนาเอามาฝากเลี้ยงไว้หลายปี ถ้าคุณหนูนา สงสารและเป็นห่วงเขาจริงๆ ขอช่วยมาย้ายพวกเขาไปอยู่ในพื้นที่ ที่เหมาะสมโดยด่วน
ล่าสุด "หนูนา กัญจนา" ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินเรื่องขออธิบดีอุทยานฯ พาขุนเดชไปอยู่ที่ปางของ "แสงเดือน ชัยเลิศ" โพสต์ข้อความ ระบุว่า "ป้าขอโทษนะลูกขุนเดช ป้าไม่รู้เลย ชดเชยอะไรได้ จะทำทุกอย่าง" ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นหลังอ่านโพสต์ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยค่ะ ยอมรับว่าน้ำตาไหล เหมือนเรามีส่วนผิดในชีวิตน้องที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (28 ต.ค.) ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย "พลายขุนเดช" ระบุว่า ที่บ้านใหม่ ในระหว่างเดินทาง เราจะพยายามให้น้องขุนเดชบอบช้ำน้อยที่สุด เพราะน้องไม่ได้แข็งแรงเหมือนช้างอื่นทั่วไป ขุนเดชไม่สามารถเดินเป็นระยะทางไกลๆ เพื่อมาขึ้นรถได้ ขุนเดชไม่น่าจะเดินลุยโคลนได้
ฉะนั้นการเตรียมความพร้อม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งสถานที่ใหม่ที่ขุนเดชจะต้องไปอยู่ ทั้งควาญช้างที่นับจากนี้จะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน ทั้งตัวขุนเดชเองที่ต้องพร้อมที่จะเดินทาง แม้ระยะทาง นครเวียงพิงค์-เขลางค์นคร จะไม่ไกลนักแต่เชื่อว่าน้องต้องเครียดแน่ๆ จากความผิดกลิ่น ความไม่คุ้นเคย อีกทั้งไม่วายอาจต้องเจ็บตัวจากคุณหมอทั้งหลายที่จะต้องเข้ามาดูแลรักษา (ต้องฉีดยา ทำแผล หรืออื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ)
แม้ว่าพวกหมอเหล่านั้นจะรักช้าง แต่ก็แอบดุอยู่เหมือนกันถ้าดื้อดันไม่ฟังกันในบางคราว แม้ขุนเดชจะเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้างของเรามาก่อนเป็นเวลาสั้นๆ ด้วยอาการท้องอืด (15-20 ม.ค. 2558) ยินดีที่ได้มาเจอกันอีกครั้งครับขุนเดช
ขณะเดียวกัน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติให้ย้ายพลายขุนเดชไปรักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ โดยทีมสัตวแพทย์ได้เข้าตรวจสุขภาพ เมื่อ 28 ต.ค. ก่อนวางแผนขนย้ายโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้มาตรฐานการดูแลช้างที่กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี เฝ้าระวังโรค และบันทึกข้อมูลการรักษาอย่างเป็นระบบ
สัตวแพทย์หญิง รัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้รายงานถึงผลการตรวจสุขภาพช้างพลายขุนเดช ที่ Elephant Nature Park โดยทีมสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
การตรวจครั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ต้องประสานงานกับ Elephant Nature Park ให้งดอาหารช้าง 12 ชั่วโมง และงดน้ำ 6 ชั่วโมง เพื่อการวางยาซึมระดับอ่อน (mild sedation) นาน 60-90 นาที เนื่องจากไม่สามารถเข้าใกล้ช้างเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ มูล และตรวจบาดแผลได้โดยตรง
ผลการตรวจพบความผิดปกติที่รุนแรง โดยเฉพาะที่ขาหน้าซ้ายซึ่งเคยติดบ่วงแร้ว มีความยาวมากกว่าขาขวาที่ปกติ เพราะช้างไม่ได้ใช้ขาข้างนี้รับน้ำหนัก ส่งผลให้ขาหลังต้องรับน้ำหนักชดเชย โดยเฉพาะขาหลังขวาที่มีการลอกหลุดและงอกของฝ่าเท้าผิดธรรมชาติ เล็บเท้าผิดปกติเล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า กระดูกสันหลังผิดรูปเป็นรูปตัว S จากการชดเชยน้ำหนักขณะเดิน
ส่วนบาดแผลที่เท้าหน้าซ้าย แม้ไม่พบการติดเชื้อ แต่มีเนื้อเยื่อส่วนเกิน (granulation tissue) ที่ไวต่อความรู้สึกและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเปิดได้ง่าย ด้านพฤติกรรม พบว่าผู้ดูแล สามารถควบคุมช้างได้เพียงระดับ 5/10 ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับการรักษา (7-8/10)
จากการประเมิน ทีมสัตวแพทย์ระบุว่าความผิดปกติทางโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีนี้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเครื่องมือพิเศษในการรักษา จึงวางแผนดำเนินการ หลังย้ายช้างไปยังสถานที่ใหม่ โดยระหว่างนี้จะย้ายช้างจากโรงเรือนเดิมที่ติดชุมชนและมีดินโคลนทับถม ไปยังโรงเรือนใหม่ใกล้จุดเคลื่อนย้าย ทำความสะอาดบาดแผล พันผ้าพันแผล และสวมถุงเท้าป้องกันสิ่งสกปรก (wound dressing) ทุกวัน เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกทุกวัน
สำหรับแผนการช่วยเหลือระยะยาว มีดังนีั
1. ตรวจสุขภาพและประเมินพฤติกรรมในพื้นที่ต้นทาง
2. เก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ :
- โรคติดต่อจากสัตว์สู่ช้าง: โรคปากและเท้าเปื่อย โรคแท้งติดต่อ โรคแอนแทรกซ์ โรคคอบวม โรคพยาธิในเลือด โรคพยาธิใบไม้ในทางเดินอาหาร
- โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและช้างสู่ช้าง: โรควัณโรค โรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ โรคฉี่หนู โรคมงคล่อเทียม
- ตรวจการทำงานของอวัยวะภายในและระบบเลือด
3. กำหนดวิธีการเคลื่อนย้าย เส้นทาง และประสานงานผู้เกี่ยวข้อง
4. กักโรคในพื้นที่ปลายทาง
5. สร้างความคุ้นเคยและสื่อสาร
6. ตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบ
นายอรรถพล กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินทุกขั้นตอนทีมสัตวแพทย์ ควาญ และเจ้าหน้าที่จะคำนึงถึงสภาพร่างกายของช้างเป็นสำคัญ โดยหากพบภาวะวิกฤติ จะเร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายภายใน 24 ชั่วโมงตามเงื่อนไขการเคลื่อนย้ายช้างป่วยหนัก เพื่อให้ช้างได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและเหมาะสมที่สุด รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บลุกลามจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของช้าง
สำหรับ "พลายขุนเดช" เป็นช้างป่าที่บาดเจ็บจากบ่วงแร้ว ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555 ขณะมีอายุเพียง 2 ปี โดยพบสาเหตุที่ทำให้แผลที่ข้อเท้าหน้าซ้ายรักษาไม่หาย เนื่องจากมีการงอกแหลมออกของกระดูกข้อเท้าบางชิ้น ประกอบกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโต และพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นที่มีฮอร์โมนเพศหลั่งมากผิดปกติ
ได้ส่งตัวไปรักษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี ก่อนย้ายไปรักษาต่อที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2556 จนมีอาการดีขึ้น แต่เนื่องจากเป็นช้างพิการไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ จึงได้ส่งตัวไปอยู่ในการดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ ในปี 2557
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องขอขอบคุณมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยดูแล และรับอนุบาลพลายขุนเดช เป็นอย่างดีตลอดมา จนถึงปัจจุบัน