
รู้จัก "สาธรยูนีค"ตึกไวรัล สุดแข็งแกร่ง แผ่นดินไหว ไม่สามารถทำอะไรได้
ย้อนประวัติศาสตร์ "สาธรยูนีค ทาวเวอร์" ตึกไวรัล สุดแข็งแกร่ง แผ่นดินไหว ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้ยังสร้างไม่เสร็จ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร ทำให้รู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร
โดยกรุงเทพมหานคร นอกจากจะได้รับผลกระทบเรื่องตึกสูงต่างๆ เกิดรอยร้าว ยังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ได้พังถล่มลงมา พบผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างค้นหาผู้รอดชีวิต
จากเหตุการณ์ดังกล่าวบนโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงสร้างอาคาร เนื่องจากขณะเกิดเหตุ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายแห่ง แต่ทำไมอาคารของ สตง. จึงพังถล่มลงมาที่เดียว นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพไวรัล "สาธรยูนีคทาวเวอร์" อาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งยังคงตั้งตระหง่าน ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวแต่อย่างใด
"คมชัดลึกออนไลน์" ชวนทำความรู้จักตึกร้างย่านสาทร "สาธรยูนีค ทาวเวอร์" และพาย้อนประวัติศาสต์ ว่าเหตุใดถึงยังก่อสร้างไม่เสร็จ
ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2533 ถือสัญลักษณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนั้น สถาบันการเงินหลายที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทสาทรยูนิค ได้ปิดตัวลงจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ตึกแห่งนี้ถูกตัดเงินที่ให้กู้ไปโดยปริยาย แม้จะเสร็จสิ้นไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม
ประวัติตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์
ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ สูง 185 เมตร 49 ชั้น ตั้งอยู่ที่เขตสาทร กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างซอย 51 กับ 53 เยื้องกับวัดยานนาวา ออกแบบโดยบริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด โดยวางแผนจะสร้างให้เป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมิเนียมระดับหรู โดยให้ทุกห้องของอาคารสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำได้ทั้งหมด รูปแบบสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นแบบคลาสสิก ทั้งช่องหน้าต่างโค้ง ซุ้มประตูโค้ง และชั้นบนสุดเป็นทรงโดม ที่เป็นอาคารเพนท์เฮาส์ที่มีราคาสูงที่สุดในโครงการ
ปัจจุบันอาคาร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ถือเป็นอาคารร้างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและแห่งหนึ่งของโลก เป็นตึกร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจากการจัดอันดับอาคารร้างระฟ้าสูงที่สุดในโลก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ติดอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกด้วย
ด้วยความเป็นที่เป็นอาคารสูงบนทำเลทองโดยรอบ จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่อันซีนยอดฮิตของนักท่องเที่ยวในอดีต ที่มีคนแอบขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนซึ่งสามารถดูบรรยากาศโดยรอบกรุงเทพมหานครได้รอบ 360 องศา แต่ในปัจจุบันทางเจ้าของโครงการได้ทำการปิดประตูอย่างเบ็ดเสร็จห้ามคนนอกขึ้นไปได้อีก
สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ได้มีการวางแผนให้สาธร ยูนีค เป็นคอนโดมิเนียมระดับหรูสูง 47 ชั้น รวม 600 ยูนิต ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกแบบอาคารสเตท ทาวเวอร์ ที่ถือเป็นอาคารน้องของสาธร ยูนีค โครงการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2533 มีเจ้าของโครงการคือบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด และได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนมากจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยแมกซ์ การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นปีเดียวกัน โดยมีบริษัทสี่พระยา จำกัด เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน โครงการก่อสร้างอาคารต่างๆในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงัก โดยมีอาคารหรูกว่า 300 แห่งที่ถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว (อาคารสเตท ทาวเวอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอาคารดังกล่าว)
แต่ทว่า อาคารสาธร ยูนีคกลับถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิมนับแต่นั้นจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อของ "Ghost Tower" แม้ว่าจะมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้ง โดยนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ บุตรชายของ ผศ.รังสรรค์ ที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากนายพรรษิษฐ์ ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัทสาธร ยูนีค จำกัด ได้เปิดเผยว่าได้ทำการแจ้งความข้อหาบุกรุกอาคารสถานที่แก่บุคคลทั้งหมด 5 คน ที่ได้โพสต์รูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเข้ามาในอาคารลงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติสองคนที่ได้ทำวิดีโอที่พวกเขาแสดงการวิ่งฟรีรันนิ่งบนตึกแห่งนี้
นายพรรษิษฐ์ ได้กล่าว่าเขาต้องการให้การแจ้งความครั้งนี้เป็นตัวอย่างและหยุดยั้งคนที่จะเข้ามาปีนป่ายบนตึกที่มีความอันตราย เขาได้ระบุเพิ่มว่าจำนวนผู้เข้ามาในตัวอาคารอย่างผิดกฎหมายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องอาคารแห่งนี้ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยในบางสัปดาห์นั้นมีผู้เข้าไปยังตัวอาคารมากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งตนก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ยามรับสินบนจากผู้เข้าชมตึกได้เนื่องจากไม่สามารถเฝ้าตึกด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน
ในปีพ.ศ. 2560 นายพรรษิษฐ์ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามจัดการสัมนาที่ตัวอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระลึก 20 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจ อกจากนี้ยังอนุมัติให้ จีดีเอช (GDH) ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย
นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกชื่ออาคารแห่งนี้กันว่า "Ghost Tower" และเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและต้องการถ่ายภาพมุมสูง
อย่างไรก็ตามล่าสุด มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "สุภาพ มิ่งศิริ" โพสต์ประกาศขาย "สาธรยูนีคทาวเวอร์" ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว ราคา 4 พันล้าน
ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย, กรุงเทพธุรกิจ