
เปิดรายละเอียด 16 รอยเลื่อนมีพลังในไทย เสี่ยงแผ่นดินไหวในอนาคต
เปิดรายละเอียด 16 รอยเลื่อนที่มีพลังในไทย เสี่ยงแผ่นดินไหวในอนาคต พร้อมย้อนสถิติแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนดังกล่าว
เหตุการณ์ แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายมหาศาล และตอกย้ำถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อันตราย แม้ว่าศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้นจะอยู่นอกประเทศไทย แต่แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก "รอยเลื่อนมีพลัง" ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนแผ่นดินไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความซับซ้อนทางธรณีวิทยา ทำให้มีรอยเลื่อนจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ มีรอยเลื่อนที่ได้รับการระบุว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งหมายถึงรอยเลื่อนที่มีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต หรือมีหลักฐานบ่งชี้ว่ายังมีการเคลื่อนตัวอยู่ในปัจจุบัน รอยเลื่อนเหล่านี้จึงเป็นแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ข้อมูลเมื่อปี 2563 จากกรมทรัพยากรธรณี ระบุถึง 16 รอยเลื่อน มีพลังในไทย ดังนี้
1.กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์
วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีมุมเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร รอยเลื่อนนี้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่อำเภอฟากท่า ยาวลงมาในพื้นที่อำเภอน้ำปาด อำเภอทองแสนขัน และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ความมีพลังของรอยเลื่อน คือ แนวรอยเลื่อน และแนวสามเหลี่ยม เป็นแนวตรงทับหน้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผารอยเลื่อนพบในหลายพื้นที่ เช่น บริเวณบ้านฟากนา และที่บ้านปางหมิ่น สำหรับบริเวณบ้านปางหมิ่น ผารอยเลื่อนสูงประมาณ 2 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่ามีธรณีสัณฐานของการเลื่อนซ้ายของลำห้วยสาขาของห้วยน้ำออกเป็นระยะทาง 2 เมตร และมีเนินตะกอนน้ำพาที่ถูกรอยเลื่อนตัดเลื่อนออกออกจากกันแบบเหลื่อมซ้ายบริเวณปากห้วยไพร รอยเลื่อนอุตรดิตถ์มีลักษณะการเลื่อนในแนวดิ่ง แบบรอยเลื่อนย้อนและเลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย
ข้อมูลร่องสำรวจพบว่ารอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณพื้นที่บ้านโทยต้า ตำบลสองคอน อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี ด้วยขนาด 6.3 และพื้นที่บ้านหนองแท้ว ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อประมาณ 4,000 ปี ด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.2 มีศูนย์เกิดบริเวณอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอรวมทั้งอำเภอเมืองอุตรดิตถ์"
2.กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากพื้นที่ในสหภาพเมียนมาต่อเนื่องเข้าเขตประเทศไทยในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พาดผ่านอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ต่อเนื่องมายังอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ และอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีความยาวรวมประมาณ 220 กิโลเมตร
ลักษณะทางธรณีสัณฐานที่แสดงถึงความมีพลังของรอยเลื่อนนี้ ได้แก่ ธารเหลื่อม ธารหัวขาด หุบเขาสายตรง และผาสามเหลี่ยม จากการศึกษาประวัติการเลื่อนตัวในโบราณกาลของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์จากร่องสำรวจ พบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณบ้านโป่งรี ตำบลหนองรี อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว ด้วยขนาด 6.8
นอกจากนี้ ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 มีขนาด 5.9 และมีศูนย์เกิดอยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานคร
3.กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง
วางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ พาดผ่านตั้งแต่ อำเภอเวียงแหง และต่อเนื่องถึงอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความยาวรวมประมาณ 100 กิโลเมตร มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปรกติ ลักษณะทางธรณีสัณฐานที่บ่งบอกความมีพลังของรอยเลื่อนนี้ ประกอบด้วย ผารอยเลื่อน ผาสามเหลี่ยม และหุบเขาเส้นตรง
จากข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหวที่พบในร่องสำรวจบริเวณบ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง และบ้านเวียงแหง ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณขนาด 6.8 ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเวียงแหงเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว รอยเลื่อนเวียงแหงมีอัตราการเลื่อนตัวอยู่ที่ 0.01-0.11 มิลลิเมตรต่อปี
4.กลุ่มรอยเลื่อนระนอง
วางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่ในทะเลอันดามัน ผ่านอำเภอตะกั่วป่าและอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ต่อเนื่องมายังพื้นที่อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง อำเภอละอุ่น และอำเภอกระบุรี ของจังหวัดระนอง พาดผ่านพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
และต่อเนื่องไปในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และลงอ่าวไทยบริเวณทิศตะวันออกของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวเฉพาะส่วนที่ปรากฏบนแผ่นดินประมาณ 300 กิโลเมตร
ลักษณะธรณีสัณฐานที่สำคัญประกอบด้วย ธารเหลื่อม พุน้ำร้อน และผาสามเหลี่ยม ซึ่งบ่งชี้ว่ารอยเลื่อนระนอง มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับกลุ่มรอยเลื่อนนี้ ตามข้อมูลของสำนักสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่าได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2549 มีขนาด 4.1-4.7 จำนวน 6 ครั้ง และในวันที่ 8 ตุลาคม 2549 มีขนาด 5.0 จำนวน 1 ครั้ง ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีศูนย์เกิดในอ่าวไทยด้านทิศตะวันออกของอำเภอสามร้อยยอด ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของพื้นดิน ได้แก่ อำเภอหัวหิน อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอปราณบุรี อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
5.กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เริ่มตั้งแต่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ผ่านอำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องลงมาถึงบริเวณทิศเหนือของอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร
จากการศึกษาพบว่ารอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนปรกติ อาศัยหลักฐานธรณีสัณฐานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน พบลักษณะตะพักของผารอยเลื่อนตามแนวสองข้างลำน้ำในแอ่งแม่สะเรียงจำนวน 4 ระดับอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบธรณีสัณฐานของผาสามเหลี่ยมที่เรียงซ้อนกันหลายระดับ ไม่น้อยกว่า 4 ชั้น ทั้งนี้เป็นผลจากการเลื่อนตัวหลายครั้งของรอยเลื่อนนี้ในอดีต ธรณีสัณฐานอีกลักษณะหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดมากในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงคือลักษณะทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ ซึ่งแสดงถึงว่าพื้นที่นี้มีการยกตัวอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ทางน้ำกัดเซาะลึกลงด้านล่างมากกว่าการกัดเซาะด้านข้าง
ในพื้นที่ของรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางเกิดขึ้นบ่อยหลายครั้ง ที่สำคัญคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 มีศูนย์เกิดในตอนเหนือของรอยเลื่อนในพื้นที่ของสหภาพเมียนมา ประชาชนรู้สึกได้ในหลายจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย
6.กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง
มีแนวการวางตัวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ยาวต่อเนื่องเข้าไปใน สปป.ลาว มีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตร
ลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลังประกอบด้วย ธารเหลื่อม ตะพักขั้นบันได และผาสามเหลี่ยม รอยเลื่อนนี้ที่ยาวต่อเนื่องเข้าไปใน สปป.ลาว แสดงรูปแบบการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย จากหลักฐานของการหักงอของลำแม่น้ำโขง หรือธารเหลื่อมเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณใกล้บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
จากข้อมูลร่องสำรวจ รอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณพื้นที่บ้านปางค่า ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ 2,000 ปี ด้วยขนาด 6.7 ข้อมูลศูนย์เกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในกลุ่มรอยเลื่อนนี้ พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0-4.1 จำนวน 5 ครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาด 4.1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ประชาชนในหลายอำเภอรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน
7.กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว
เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ลาว และอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร โดยล่าสุดผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่ลาวทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 150 ปี คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 มีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล ในอำเภอแม่ลาว อำเภอแม่สรวย และอำเภอพาน สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนถึงตึกสูงในกรุงเทพมหานคร 1 โดยตรวจวัดแผ่นดินไหวตามได้มากกว่าหนึ่งพันครั้ง
8. รอยเลื่อนแม่ทา
รอยเลื่อนนี้มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (2523) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษาในปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิด ในระดับตื้นอยู่มากมายในบริเวณรอยเลื่อนนี้
9.กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน
วางตัวในแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก มีมุมเอียงเทไปทางทิศเหนือ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร (เฉพาะในประเทศไทย) พาดผ่านหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝางและอำเภอแม่อาย) และจังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน, อำเภอเชียงแสน, อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงของ) และต่อเนื่องไปยัง สปป.ลาว
รอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้ายเป็นหลัก ซึ่งมีหลักฐานทางธรณีสัณฐานบ่งชี้ถึงความมีพลัง เช่น ธารเหลื่อม (การเหลื่อมของลำห้วยสาขาย่อยของน้ำแม่จันเป็นระยะทางมากกว่า 600 เมตร) สันเขาเหลื่อม, ธารหัวขาด, ผารอยเลื่อน, สันกั้นผา, ผาสามเหลี่ยม, แหล่งพุน้ำร้อน (แหล่งพุน้ำร้อนแม่จัน) และหนองหล่ม (เวียงหนองหล่ม ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองโยนกนครในอดีต) ลักษณะของหนองน้ำนี้เกิดจากการยุบตัวอันเนื่องมาจากการเลื่อนตัวสัมพันธ์กันของสองรอยเลื่อนหรือบริเวณส่วนโค้งของรอยเลื่อนแม่จัน
จากข้อมูลร่องสำรวจพบว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว ในพื้นที่บ้านนโป่งป่าแขม ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญในพื้นที่ แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 มีสาเหตุจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันในส่วนของพื้นที่ สปป.ลาว เหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบให้ผนังอาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย เช่น เสาอาคารเรียนโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร
10.กลุ่มรอยเลื่อนเมย
มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ รอยเลื่อนเมยเริ่มต้นปรากฏในเขตพื้นที่ของสหภาพเมียนมายาวต่อเนื่องเข้าเขตประเทศไทยบริเวณลำน้ำเมยที่บ้านท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พาดผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอเมืองตาก อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก อำเภอโกสัมพีนคร และอำเภอคลองลาน ของจังหวัดกำแพงเพชร มีความยาวรวมประมาณ 260 กิโลเมตร
ธรณีสัณฐานที่สำคัญที่พบคือ ธารเหลื่อม, สันกั้นหุบเขา, เส้นตรง และผารอยเลื่อน หลักฐานของธารเหลื่อมปรากฏชัดเจนที่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง ลำห้วยขนาดเล็กถูกตัดให้หักเหลื่อมเป็นระยะทาง 500 เมตร และบ่งบอกว่าเป็นรอยเลื่อนตามแนวระนาบเหลื่อมขวา
การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเมยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 มีศูนย์เกิดที่บ้านท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง ประชาชนรู้สึกได้หลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
11.กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์
วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนนี้มีการเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน จากภาพดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าความคมชัดและความต่อเนื่องของแนวเส้นรอยเลื่อนด้านทิศตะวันออกของแอ่งเพชรบูรณ์มีมากกว่าแนวรอยเลื่อนด้านทิศตะวันตก มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปรกติ รอยเลื่อนนี้พาดผ่านพื้นที่ของอำเภอหล่มเก่า, อำเภอหล่มสัก และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร
ลักษณะของธรณีสัณฐานที่บ่งบอกความมีพลังของรอยเลื่อนนี้ประกอบด้วย ผารอยเลื่อนและผาสามเหลี่ยมที่เรียงซ้อนกันเป็นระดับไม่น้อยกว่า 5 ชั้น ที่บ่อลูกรังบริเวณบ้านชำบอน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ พบชั้นกรวดชั้นทรายถูกรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ตัดขาดออกจากกันประมาณ 1 เมตร ในแบบรอยเลื่อนปรกติ ซึ่งเป็นหลักฐานของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว และจากข้อมูลร่องสำรวจบ้านซับกองทอง ตำบลสามแยก อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณเกิดขึ้นขนาด 7.0 เมื่อประมาณ 1,500 ปี และ 200 ปีที่แล้ว
หากตรวจสอบข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 ด้วยขนาด 4.0 ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอำเภอหล่มสักและอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
12.กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
วางตัวในแนวเกือบเหนือ-ใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านบริเวณทิศตะวันตกของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย, อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง รอยเลื่อนนี้มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร
รอยเลื่อนพะเยาแสดงลักษณะของผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณอำเภอวังเหนือมีผารอยเลื่อนที่สูง 200 เมตร ทางน้ำสาขาต่างๆ ที่ตัดผ่านผารอยเลื่อนนี้แสดงร่องรอยการกัดเซาะลงแนวดิ่งลึกมากจนถึงชั้นหินดาน ซึ่งแสดงการเลื่อนตัวแบบปรกติ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.2 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 มีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับโรงพยาบาลอำเภอพาน รวมทั้งส่งผลกระทบกับวัดและโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
รอยเลื่อนพะเยายังทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 แรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
13.กลุ่มรอยเลื่อนปัว
มีทิศทางการวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีมุมเอียงเทไปทางทิศตะวันตก จัดเป็นรอยเลื่อนปรกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาวรายรอบด้านทิศตะวันออกของแอ่งปัวเป็นส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว เรื่อยลงมาในพื้นที่ของอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว และต่อเนื่องถึงอำเภอสันติสุข ของจังหวัดน่าน มีความยาวรวมทั้งหมดประมาณ 110 กิโลเมตร
มีลักษณะธรณีสัณฐานของผารอยเลื่อนที่หันหน้าไปทิศตะวันตก พร้อมทั้งมีลักษณะผาสามเหลี่ยมและหุบเขารูปแก้วไวน์ จากข้อมูลร่องสำรวจพบว่ารอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณพื้นที่บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อประมาณ 2,000 ปี ด้วยขนาด 6.7 มาแล้ว
หากสืบค้นข้อมูลศูนย์เกิดแผ่นดินไหว พบว่าเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ในบริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นอิทธิพลของการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนปัว
14.กลุ่มรอยเลื่อนเถิน
วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านตั้งแต่ อำเภอเมืองแพร่, อำเภอสูงเม่น, อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ แล้วยาวต่อเนื่องลงมาในพื้นที่อำเภอแม่ทะ, อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน ของจังหวัดลำปาง มีความยาวรวมทั้งหมดประมาณ 180 กิโลเมตร
กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยา โครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ผารอยเลื่อน, ผาสามเหลี่ยมยาวต่อเนื่องกันเป็นแนวบริเวณด้านทิศตะวันออกของอำเภอสบปราบ และการเลื่อนตัวตามแนวระนาบก็พบหลักฐานชัดเจนจากการหักงอของทางน้ำหลายสาขา เช่น พื้นที่บ้านมาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ทางน้ำถูกรอยเลื่อนตัดผ่าน แสดงลักษณะเหลื่อมซ้าย โดยมีระยะของการเลื่อนตัวประมาณ 500 เมตร
ข้อมูลจากร่องสำรวจพบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณพื้นที่บ้านปางงั้น ตำบลแม่สรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ด้วยขนาด 6.6 มีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 3.0-5.0 ในพื้นที่ของกลุ่มรอยเลื่อนเถิน จำนวน 20 ครั้ง
15.กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร เป็นรอยเลื่อนที่เริ่มปรากฏขึ้นในเขตสหภาพเมียนมา เข้าสู่ตะเข็บชายแดนประเทศไทยบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี พาดผ่านอำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอเมืองกาญจนบุรี และสิ้นสุดบริเวณอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี มีความยาวรวมประมาณ 200 กิโลเมตร
หลักฐานทางธรณีสัณฐานซึ่งแสดงถึงการได้รับอิทธิพลจากกระบวนการแปรสัณฐานยุคใหม่ หรือบ่งบอกว่ายังคงมีความมีพลังอยู่ในปัจจุบัน เช่น ธารเหลื่อม, ผารอยเลื่อน, ธารหัวขาด, สันกั้นหนองหล่ม, พุน้ำร้อน และผาสามเหลี่ยม ซึ่งบ่งชี้ว่ารอยเลื่อนนี้เลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมขวา และตามแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนย้อน
จากการศึกษาประวัติการเลื่อนตัวในโบราณของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จากร่องสำรวจบริเวณบ้านทิพุเย ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ พบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวในอดีตมาแล้วด้วยขนาด 6.4 เมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว แผ่นดินไหวโบราณครั้งล่าสุดที่เกิดจากรอยเลื่อนนี้ เกิดเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ขนาด 6.4 ที่บริเวณบ้านแก่งแคบ ตำบลชะแล อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
16.กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนอง แบบเหลื่อมซ้ายเช่นเดียวกัน และเลื่อนตัวในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนย้อน แนวรอยเลื่อนนี้เริ่มปรากฏในทะเลอันดามัน บริเวณทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตและเกาะยาว ในบริเวณอ่าวพังงา
รอยเลื่อนยาวต่อเนื่องขึ้นบก บริเวณลำคลองมะรุ่ย อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านต่อเนื่องไปในพื้นที่อำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง และอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวเฉพาะส่วนบนแผ่นดินประมาณ 140 กิโลเมตร
หลักฐานทางธรณีสัณฐานที่พบ ได้แก่ ธารเหลื่อม, ผารอยเลื่อน, ผาสามเหลี่ยม, พุน้ำร้อน และสันกั้น เป็นต้น จากการศึกษาประวัติการเลื่อนตัวในร่องสำรวจบริเวณบ้านบางลึก ตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบชั้นตะกอนกรวด ชั้นทราย และดินเหนียว ถูกรอยเลื่อนตัดเลื่อนออกจากกันในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนย้อน ประเมินได้ว่ารอยเลื่อนส่วนนี้เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตด้วยขนาด 6.8 เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว
ข้อมูลแผ่นดินไหวในพื้นที่:
- วันที่ 4 กันยายน 2551 ขนาด 3.1 มีศูนย์เกิดที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วันที่ 23 ธันวาคม 2551 ขนาด 4.1 มีศูนย์เกิดที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วันที่ 16 เมษายน 2555 ขนาด 4.3 มีศูนย์เกิดที่ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายบางส่วนหลายหลัง ประชาชนทั่วทั้งเกาะภูเก็ต รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
- วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ขนาด 4.5 มีศูนย์เกิดในทะเลใกล้กับเกาะยาว อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ประชาชนรู้สึกสั่นไหวได้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี,กรมอุตุนิยมวิทยา