ข่าว

ภัยสงกรานต์ จาก"ดินสอพอง"เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด

ภัยสงกรานต์ จาก"ดินสอพอง"เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด

12 เม.ย. 2568

ภัยสงกรานต์ จาก"ดินสอพอง"ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงติดเชื้อทำให้แผลเน่า อาหารเป็นพิษท้องเสีย รุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด

11 เมษายน 2568 นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ นิตยสารฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคด้วยระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ สนับสนุนงบประมาณโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างดินสอพอง จำนวน 10 ยี่ห้อ ทั้งจากร้านค้าออนไลน์ ร้านค้าทั่วไป และห้างสรรพสินค้า ระหว่างวันที่ 26-31 มีนาคม 2568 เพื่อตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค Clostridium spp. และเชื้อ Staphylococcus aureus โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

 

ภัยสงกรานต์ จาก\"ดินสอพอง\"เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด


ผลการทดสอบสรุปว่า
1. ทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค Staphylococcus aureus
2. มี 9 ตัวอย่าง พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค Clostridium spp. ซึ่งตกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.152-2555 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ไม่สามารถนำมาใช้ผลิตเครื่องสำอางใช้กับใบหน้า ผิวหนัง

 

มอก.152-2555 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสำอาง ข้อกำหนดทั่วไป ข้อ 4. คุณลักษณะที่ต้องการ 4.2 คุณลักษณะทางจุลชีววิทยา 4.2.2 จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคดังต่อไปนี้ ต้องตรวจไม่พบ ...(4) คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสำอางผสมสมุนไพร)
 

โดย จุลินทรีย์คลอสตริเดียม สปอร์โรจีเนส (Clostridium spp.) หากเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะทำให้แผลเน่า หากเข้าสู่ร่างกายทางปากอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง ภายใน 8-22 ชั่วโมง หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตดินสอพองส่วนใหญ่เป็นงานอุตสาหกรรมครัวเรือน หรือ SME บางครั้งการผลิตหรือการเก็บรักษาอาจไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ดังนั้นฉลาดซื้อจึงมีคำแนะนำดังนี้


1. ซื้อดินสอพองจากผู้ผลิตที่ได้รับใบจดแจ้ง จาก อย. หรือมีที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน หรือเครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
2. บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ไม่มีรอยฉีกขาดชำรุด
3. หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ระวังอย่าให้เข้าตา จมูกหรือปาก
4. หากผิวหนังมีบาดแผล (แผลเปิด) ควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง
5. พบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าผิดกฎหมาย ไม่ปลอดภัย ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556

ด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ และอดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงดินสอพองแท้ ดินสอพองปลอม ดินสอพอง ของแท้ต้องผลิตจากดินมาร์ล หรือปูนมาร์ล (Marl) ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบหลัก

ภัยสงกรานต์ จาก\"ดินสอพอง\"เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด

 อย่างไรก็ตามมีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ว่าเคยดำเนินการสุ่มตรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด พบว่ายังมีดินสอพองปลอมที่มียิปซัม หรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก วางจำหน่ายปะปนกับดินสอพองของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ลหรือแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งอันตรายต่อผู้บริโภค

 

เนื่องจากฝุ่นยิปซัมนี้ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้ หากสัมผัสกับผิวอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่นหรือเป็นลมพิษได้ วิธีการทดสอบง่ายๆ ว่าเป็นดินสอพองแท้หรือของปลอม คือ ใช้น้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชูหยดลงในดินสอพอง หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าเป็นดินสอพองแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ แสดงว่าเป็นดินสอพองปลอม (อ้างอิงจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)

ด้านนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดินสอพองนับเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้จากธาตุวัตถุ นำมาใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว หรือใช้เป็นส่วนประกอบของยา เช่น ยาแก้ผดผื่นคัน ภูมิปัญญาดั้งเดิมก่อนจะใช้จะต้องทำให้ละเอียด สะอาด เพื่อให้เกิดความปลอดภัย จึงมักนำมาฆ่าเชื้อตามกรรมวิธีโบราณเรียกว่า การสะตุ คือ การนำเอาดินสอพองมาผ่านความร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำเองที่บ้านได้สร้างความปลอดภัยให้แก่กัน 


แต่ถ้าซื้อดินสอพองที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ จึงมักมีราคาแพงกว่าดินสอพองที่ใช้ทั่วไป ในปัจจุบันได้มีวิธีการฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมาประยุกต์เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดินสอพองและกำจัดเชื้อก่อโรค เช่นเดียวกับการฆ่าเชื้อในผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ

 

ดังนั้น สงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประชาชนควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าตาจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และอยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้นำผลิตภัณฑ์ไปผ่านการฆ่าเชื้อโรค ถึงแม้ว่าอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็จะทำให้ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น