
"เนสท์เล่" เฮ กลับมาขาย "เนสกาแฟ" ได้แล้ว มีคำสั่งชี้ขาดให้เป็นผู้ถือสิทธิ์
"เนสท์เล่" เฮ กลับมาขาย "เนสกาแฟ" ได้แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีคำสั่งชี้ขาดให้เป็นผู้ถือสิทธิ์ Nescafé และ เนสกาแฟ
13 เม.ย. 2568 จากกรณีที่ เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ได้ยุติสัญญากับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่ และตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีคุณประยุทธ มหากิจศิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น โดย ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ได้ผลิตในประเทศไทย ผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึง พ.ศ.2567
การยุติสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 ภายใต้สัญญาการร่วมทุนนี้ เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่
ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ. 2568
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ และเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ในวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
ขณะที่เนสท์เล่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอศาลเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งเกษตรกร ซัพพลายเออร์ โรงงานผลิตสินค้าอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กระป๋อง บรรจุภัณฑ์อื่นๆ ในวันที่ 11 เมษายน 2568 ขณะที่ทนายฝ่ายโจทย์ได้ยื่นคัดค้าน ศาลจึงนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 9.00 น. เพื่อพิจารณาว่าจะเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
ล่าสุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 “เนสท์เล่” ลงนามโดย นางสาวเครือวัลย์ วรุณไพจิตรผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประเทศไทย ส่งหนังสือไปยังพันธมิตรทางการค้า เพื่อแจ้งความคืบหน้าล่าสุดถึงสถานการณ์ของธุรกิจเนสกาแฟ โดยระบุว่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งชี้ขาดให้เนสท์เล่เป็นผู้ถือสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “Nescafe” และ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศ ทำให้ “เนสท์เล่” สามารถกลับมาจำหน่ายเนสกาแฟ ได้ตามปกติ
ที่มา : thansettakij