
เช็กอาการด่วน! เจ็บแบบนี้เสี่ยงหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว
เช็กอาการด่วน! เจ็บแบบนี้เสี่ยงหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว อาจไม่ใช่โรคกรดไหลย้อน แต่เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
หมอเจด หรือ นายแพทย์ เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาแชร์เรื่องราวเตือนภัยสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กเพจ "หมอเจด"เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เช็กด่วน ! เจ็บหน้าอกแบบนี้กรดไหลย้อนหรือหัวใจวายกันแน่?
เวลาเจ็บหน้าอกขึ้นมา หลายคนตกใจ กลัวว่า "เราจะเป็นโรคหัวใจไหม?" แต่อีกใจก็คิด "หรือเป็นแค่กรดไหลย้อน" จริงๆ แล้วอาการเจ็บหน้าอกอาจเกิดได้จากหลายอย่าง แต่ที่คนมักสับสนกันบ่อยๆ ก็คือ
โรคกระเพาะอาหารไหลย้อน (GERD - Gastroesophageal Reflux Disease) กับ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI - Myocardial Infarction) สองโรคนี้แม้อาการจะคล้ายกัน แต่ความรุนแรงและผลลัพธ์ต่างกันมาก เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังนะว่ามันต่างกันยังไง
เจ็บหน้าอกแบบไหนคือกรดไหลย้อน แบบไหนคือหัวใจ?
กรดไหลย้อน (GERD) : จะรู้สึก "แสบร้อนกลางอก" เหมือนกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร แสบขึ้นมาจนถึงคอหรืออก มักเกิดหลังทานอาหาร โดยเฉพาะของทอด อาหารเผ็ด นม ชา กาแฟ หรือนอนหลังทานเสร็จ
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI) : เจ็บแบบ "แน่นๆ หนักๆ" เหมือนมีอะไรกดทับ หรือโดนนั่งทับอก เจ็บอาจร้าวไปที่แขนซ้าย คอ กราม หรือหลัง มักเกิดขณะออกแรง หรือบางครั้งแค่ตอนนั่งเฉยๆ ก็เจอได้
สำหรับผู้หญิง: อาการหัวใจขาดเลือดอาจไม่ชัดเจนเหมือนผู้ชาย บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเด่นชัด แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ อ่อนเพลียรุนแรง ปวดท้องส่วนบน หรือปวดร้าวที่คอหรือสะบัก อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมกับหัวใจขาดเลือดคือ
- เหงื่อออกมากผิดปกติ (เหงื่อเย็น)
- หายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
อะไรเป็นตัวกระตุ้นของแต่ละโรค?
กรดไหลย้อน (GERD) : ส่วนใหญ่ถูกกระตุ้นด้วยอาหาร โดยเฉพาะอาหารมันจัด หรือมื้อหนักๆ แล้วนอนทันที คนที่มีพุงเยอะ เครียด หรือท้องผูกบ่อย ก็เสี่ยงมากขึ้น
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI) : เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน จากโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง สูบบุหรี่ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
ท่าไหนทำให้ดีขึ้น? หรือแย่ลง?
กรดไหลย้อน (GERD) : นอนแล้วอาการจะแย่ลง ยิ่งเอนตัว ยิ่งแสบ แต่ถ้ายืนหรือนั่งตรงๆ อาจดีขึ้น ยาลดกรดช่วยได้ชัดเจน
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI):ไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ยังไงก็ยังแน่นอยู่ ยาลดกรดก็ไม่ช่วยอะไร พักยังไงก็ไม่ดีขึ้น ไปโรงพยาบาลด่วน
การวินิจฉัย
กรดไหลย้อน (GERD) : หมอมักวินิจฉัยจากอาการและประวัติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจส่งตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI) : ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), เจาะเลือดดูเอนไซม์หัวใจ (Troponin) และอาจต้องทำการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (ECHO) หรือสวนหัวใจเพื่อดูหลอดเลือดโดยตรง ใครมีอาการเจ็บหน้าอก ไม่ว่าจะแบบไหน แนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว อย่าคิดเองว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่มั่นใจ ไปให้หมอตรวจดีที่สุด
ความต่างที่ต้องรู้ให้ทัน?
กรดไหลย้อน (GERD) : ไม่ใช่โรคร้ายแรงทันที แต่ถ้าเป็นเรื้อรังอาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล หรือเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารได้ในระยะยาว
การรักษากรดไหลย้อน:
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน งดอาหารเผ็ด มัน ทอด
- ยกหัวเตียงขึ้น 15-30 องศา
- ยารักษามีหลายกลุ่ม ทั้งยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) หรือยาปกป้องเยื่อบุ
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI) : คือภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษาทันที ถ้าปล่อยไว้นาน หัวใจจะเริ่มตายทีละส่วน บางคนหัวใจล้มเหลวถาวร หรืออาจเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลได้
วิธีปฏิบัติถ้า "หัวใจขาดเลือด" ขึ้นมาจริงๆ ควรทำยังไง?
1. หยุดทุกอย่าง หยุดเดิน หยุดยกของ หยุดทำกิจกรรมทันที แล้วนั่งพักในท่าที่สบายที่สุด
2. ขอความช่วยเหลือ โทร 1669 บอกว่า "แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก สงสัยหัวใจขาดเลือด" แจ้งตำแหน่งที่อยู่ให้ชัดเจน และอย่าขับรถไปเองเด็ดขาด
3. ยาที่อาจช่วยได้
- ถ้ามียาอมใต้ลิ้น (Nitroglycerin) และแพทย์เคยสั่งไว้ ให้ใช้ได้ตามคำแนะนำของแพทย์
- ถ้าไม่มีประวัติแพ้แอสไพริน และไม่มีปัญหาเลือดออกง่าย อาจเคี้ยวยาแอสไพริน 300 มก. หนึ่งเม็ด (ปรึกษาเจ้าหน้าที่ 1669 ก่อนให้ยา)
4. ห้ามขับรถไปเอง เพราะถ้าเกิดหมดสติกลางทาง จะไม่มีใครช่วยได้ทันท่วงที
5. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจหรือหายใจผิดปกติ ต้องเริ่มทำ CPR ทันที โทร 1669 แล้วเปิดลำโพง ให้เจ้าหน้าที่แนะนำวิธีทำ CPR ได้เลย
อาการเจ็บหน้าอก ไม่ควรมองข้ามนะ เพราะมันอาจเป็นแค่กรดไหลย้อน
หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่อันตรายถึงชีวิตก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ "อย่าคิดเองเออเอง"ถ้าไม่แน่ใจ รีบไปหาหมอ แล้วตรวจให้ชัดเจนนะครับ จะได้รักษาอย่างตรงจุด