ข่าว

อย่าหาทำ! ใช้หมึกเขียนถุงซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี

อย่าหาทำ! ใช้หมึกเขียนถุงซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี

24 เม.ย. 2568

อย่าหาทำ! "อ.เจษฎา" เตือนใช้หมึกเขียนถุงแกงร้อนๆ หมึกซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี เตือนอย่าใช้หมึกเขียนถุงแกง

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Yada Pipatwuttitorn โพสต์ข้อความเตือนภัยลงในกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค ระบุว่า เนื่องจากสั่งออเดอร์คล้ายกันหลายอย่าง แม่ค้ากลัวงง เลยเขียนกำกับมาให้ด้วย! ฝากเตือนร้านค้าและผู้บริโภคทุกคน รณรงค์อย่าใช้หมึกเขียนบนถุงแบบนี้นะคะ มันซึมทะลุอาหารได้

 

อย่าหาทำ! ใช้หมึกเขียนถุงซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี

update ! โทรไปแจ้งร้านค้าแล้ว
1.ร้านค้าบอกให้ตัดส่วนตรงที่ติดหมึกออกได้มั้ย ?
: เราบอกว่าไม่น่าได้ค่ะ มันซึมเข้าหมู เส้น ลูกชิ้น

2.ร้านค้าบอกว่าจะคืนเงินให้ครึ่งนึงได้มั้ย เพื่อความสบายใจของทั้งคู่?
: เราบอกว่ามันกินไม่ได้เลยค่ะ พี่ส่งมาใหม่ได้มั้ยคะหนูก็ยังไม่ได้ทานข้าว (ส่วนตัวกินมาเกือบปีนี่เป็นครั้งแรก ที่พี่เค้าเขียน เพราะว่ากลัวลูกค้างงค่ะ)

3.จบที่แม่ค้าทำให้ใหม่ และจะนำมาส่งที่บ้านอีกครั้ง พร้อมขอดูอันเก่าที่มันซึมค่ะ “ร้านค้าเค้าเข้าใจว่า หมึกไม่น่าจะทะลุถุงเข้าไปได้ เพราะปกติเค้าไม่เคยเขียน” ฝากเตือนกันด้วยนะคะ อีก 2 ถุงที่สั่งมาน้องๆ ทานไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่มีหมึกเขียนเหมือนกันแต่ ไม่ได้ทันสังเกตว่าซึมหรือไม่
 

 

อย่าหาทำ! ใช้หมึกเขียนถุงซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี

ขณะที่ รศ. ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาแชร์ต่อพร้อมให้รายละเอียดระบุว่า ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหารครับ .. เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้


สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่ามีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้

อย่าหาทำ! ใช้หมึกเขียนถุงซึมลงอาหาร สารก่อมะเร็งชั้นดี

ขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้น ก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย

เนื้อสีของปากกาเมจิก มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน

 

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า “เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือ ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติก ที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการทานอาหาร ที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก”