ข่าว

สยอง! แมลงริ้นฝอยทรายกัด เสี่ยง "ลิชมาเนีย" เสียชีวิตแล้ว 2 ราย!

สยอง! แมลงริ้นฝอยทรายกัด เสี่ยง "ลิชมาเนีย" เสียชีวิตแล้ว 2 ราย!

25 เม.ย. 2568

สยอง! แมลงริ้นฝอยทรายกัด เสี่ยง "ลิชมาเนีย" เสียชีวิตแล้ว 2 ราย! ถูกกัดแล้วเป็นตุ่มนูน ไข้เรื้อรัง ถึงตายได้ ต้นตอมาจากแมลงริ้นฝอยทรายกัด เช็กอาการวิธีรักษาที่นี่

ในบรรดาโรคติดต่อต่างๆ ที่เราคุ้นเคย อาจมีชื่อหนึ่งที่คุณยังไม่เคยได้ยิน นั่นคือ "ลิชมาเนีย" โรคที่เกิดจากการแพร่เชื้อปรสิตผ่านการกัดของ "แมลงริ้นฝอยทราย" แม้จะไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อยนักในบางพื้นที่ แต่ความรุนแรงของโรคและผลกระทบต่อสุขภาพนั้นไม่ควรมองข้าม หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย 

 

โรคลิชมาเนียคืออะไร? 

โรคลิชมาเนีย หรือ ลีชมาเนียซิส (Leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นโรคของสัตว์แต่แพร่สู่คนได้ โดยมี “ริ้นฝอยทราย” เป็นตัวพาหะนำโรค


โดยริ้นฝอยทรายดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร ไปกัดสัตว์ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ จากนั้นนำเชื้อไปสู่คน ปกติพบโรคนี้ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน ปัจจุบันประเทศไทยพบโรคนี้ประปราย ปีละ 1-4 ราย มีสาเหตุจากเชื้อโปรโตซัวในสกุล ลิซมาเนีย (Leishmania) ซึ่งอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว (Macrophage) ของคน

การติดต่อโรคลิชมาเนีย


โรคลิชมาเนีย แพร่สู่คนอื่นโดยผ่านการกัดของแมลง “ริ้นฝอยทราย” ซึ่งหลังจากกินเลือดสัตว์ที่มีเชื้อแล้วมากัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คนได้ โดยริ้นฝอยทรายมีขนาดเล็กกว่ายุงประมาณ 3-5 เท่า (ขนาด 1.3-3.5 มม.) มีขนปกคลุม ขายาว มีปีก 1 คู่ แต่บินได้ไม่ดี กระโดดได้สูงไม่เกิน 1 เมตร วงจรชีวิตของริ้นฝอยทรายค่อนข้างสั้นประมาณ 60 วัน หากินห่างแหล่งเพาะพันธุ์ประมาณ 100 – 300 เมตร ออกดูดเลือดตอนพลบค่ำและกลางคืน

 

มักชอบกัดนอกบ้านมากกว่าในบ้าน  วางไข่และอาศัยบนพื้นดิน ในที่มืดเย็น และมีความชื้น ได้แก่ กองอิฐ กองหิน ไม้ฟืน จอมปลวกเก่า รอยแตกของฝา ตอไม้ผุ มูลสัตว์ ในป่า ตามพื้นดินที่มีใบไม้คลุม ใกล้คอกสัตว์ หรือใกล้แหล่งอาหาร มีรายงานพบการกระจายตัวของริ้นฝอยทรายในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย สัตว์รังโรคเป็นสัตว์กัดแทะจำพวก กระรอก กระแต หนูชนิดต่าง ๆ สัตว์เลื้อยคลานเช่น จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์เลี้ยง สุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก ปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ เป็นต้น

 


อาการโรคลิชมาเนีย

 

  • แผลตามผิวหนัง เช่น แขน ขา ใบหน้า และลำตัวบริเวณที่ถูกริ้นฝอยทรายกัดจะเป็นตุ่มนูน พองใส แดง เจ็บ (บางครั้งไม่เจ็บ) ต่อมาตุ่มขยายใหญ่แล้วแตกเป็นแผล แผลอาจแห้งหรือมีน้ำเลือดน้ำเหลืองเยิ้ม และอาจอยู่นานหลายเดือนแล้วหายไปเอง แผลที่อยู่ใกล้กันสามารถลุกลามรวมกันเป็นแผลใหญ่ หรือภูมิต้านทานต่ำ แผลก็กระจายทั่วตัวได้
  • แผลตามเยื่อบุจมูกและริมฝีปากเกิดเป้นหนองและแผล กระดูกอ่อนจมูกอาจถูกทำลายและหนองอาจลุกลามเข้าในปากถึงเพดานกับลำคอ
  • เกิดกับอวัยวะภายใน เช่น ตับและม้ามโต ซึ่งจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีภาวะเลือดออกในที่ต่าง ๆ เช่น จมูก ไรฟัน กระเพาะอาหาร พบจุดเลือดออกตามตัว มีภาวะซีด คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องอืด ผิวหนังแห้ง มีอาการบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจถึงแก่ชีวิต
     

การรักษาโรคลิชมาเนีย


ยารักษาโรคลิชมาเนีย เป็นยาในกลุ่มต้านเชื้อรา เช่น Pentavalent antimoniasis หรือ Amphotericin B เป็นต้น รวมไปถึงการผ่าตัด การรักษาตามอาการ เช่น ให้เลือดหากซีดมาก ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ Liposornal Amphotericin B ชนิดฉีดครั้งเดียว ในการรักษาผู้ป่วยลิชมาเนีย แม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาจะน้อยกว่ายาตัวอื่น ๆ แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์

 


การป้องกันและควบคุมโรคในคน

 

  • ค้นหาผู้ป่วยให้พบอย่างรวดเร็วเพื่อให้การรักษาผู้ติดเชื้อโดยเร็ว
  • มีการเฝ้าระวังโรคที่เข้มงวด เช่น การตรวจร่างกายคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งแพร่โรค
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้านเรือน ไม่ให้มีเศษอาหารตกค้าง ให้หนูซึ่งเป็นสัตว์รังโรคที่สำคัญมากิน ไม่มีโพรงไม้ รูหนู กองขยะ กองไม้ กองหิน ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของริ้นฝอยทราย สำหรับสัตว์เลี้ยงควรอยู่ในบริเวณที่ล้อมรอบด้วยตาข่ายกันแมลงในเวลากลางคืน
  • ป้องกันตนเองจากการถูกริ้นฝอยทรายกัด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าอย่างรัดกุมขณะเข้าไปทำงานหรือพักในพื้นที่ที่เกิดโรค ทายากันแมลงในบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยยากันยุง หรือใช้มุ้งที่มีขนาดรูตาข่ายเล็ก ฉีดยากันยุงภายในบ้านตามผนังหรือในที่ที่ริ้นฝอยทรายเกาะพัก หรือทำรังอยู่
  • เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นเวลานานหลายวัน ซีด ตับม้ามโต น้ำหนักลด ผอมลงมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติไปทำงานในต่างประเทศ หรือให้การรักษาไปแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น


ขณะที่เพจ Drama-addict  โพสต์ถึงเรื่องราวดังกล่าวระบุว่า โพสนี้คนแชร์หลายร้อยละ อธิบายตามนี้
1. โรคนี้มีจริง เรียกว่า ลิชมาเนีย เกิดจากริ้นฝอยทรายเป็นพาหะ
2. ริ้นฝอยทราย มีถิ่นอาศัยในประเทศแถวตะวันออกกลาง และโซนร้อน ในไทยมีริ้นชนิดนี้ แต่เคสส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ และแรงงานไทยกลับจากแหล่งโรคในประเทศตะวันออกกลางนำเข้ามา รวมจำนวน 49 ราย และคนไทยติดเชื้อในประเทศ  รวมจำนวน14 ราย ตาย 2 ราย มีทั้งชาย หญิง และเด็ก จังหวัดที่พบผู้ป่วย ได้แก่ เชียงราย น่าน กรุงเทพฯ จันทบุรี พังงาสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และตรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคใต้ 
3. อาการคือ หลังจากถูกริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อตัวนี้กัด จะค่อยๆมีตุ่มนูนและเกิดแผลตามร่างกายแบบในภาพ 
4. รักษาได้ แต่อาจหลงเหลือรอยแผลเป็น ถ้าเคสที่อาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตได้
5. เคสในภาพมาจากเพจ เล่าเรื่องปรสิต เป็นเคสเด็กชาวเวเนซูเอลลา ที่ติดเชื้อจากตอนอยู่ประเทศเขาแล้วอาการค่อยๆเป็นระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ไม่ใช่เคสที่ติดเชื้อในไทย


ที่มา : สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth