"ชัชชาติ" มอบโล่ "แม่ตัวอย่าง กรุงเทพมหานคร" วันเเม่แห่งชาติ
"ชัชชาติ" มอบโล่ “แม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร” เนื่องในโอกาส "วันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2565" พร้อมชวนร่วมรำลึกถึงพระคุณแม่ ชี้ เมืองเข้มแข็งเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว”
"เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง กรุงเทพมหานครจึงได้จัดงานเชิดชูเกียรติ “วันแม่” ประจำปี 2565 ขึ้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อพระองค์ท่าน และเพื่อปลุกจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรม ในเรื่องความกตัญญูกตเวที พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติ แม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร จาก 50 สำนักงานเขต ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมทั่วไป คุณแม่ทุกท่านเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ในการสร้างคนให้กับสังคมและกรุงเทพมหานคร ซึ่งจริง ๆ ใจเราก็อยากจะมอบรางวัลแก่คุณแม่ทุกท่านในกรุงเทพมหานคร แต่ก็คงจะเยอะมาก ในวันนี้จึงมอบรางวัลแก่คุณแม่ตัวอย่างที่ทางเขตได้คัดเลือกมา โดยถือว่าคุณแม่ตัวอย่างคือตัวแทนของคุณแม่ท่านอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ขอบคุณคุณแม่ตัวอย่างทุกท่านที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ ขอบคุณที่ดูแลบุตรหลานให้เป็นพลเมืองที่ดีของกรุงเทพมหานคร ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันจัดงานในวันนี้เพื่อเป็นโอกาสที่เราจะได้รำลึกถึงพระคุณของคุณแม่ และถ้ามีโอกาส เสาร์อาทิตย์นี้ก็แวะไปกราบคุณแม่ ระลึกถึงพระคุณท่านด้วยกัน" นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดงานเชิดชูเกียรติ “วันแม่” ประจำปี 2565 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่แม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน จาก 50 สำนักงานเขต ในวันนี้ (11 ส.ค. 65) ณ ห้องราชาบอลรูม ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
นายชัชชาติ กล่าวว่า "วันนี้ได้มางานวันแม่ ซึ่งเป็นงานที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 และเป็นการรำลึกถึงพระคุณของคุณแม่ ผมก็นึกถึงคุณแม่ คุณแม่ผมจะโทรมาตั้งแต่ตีสี่ทุกเช้า ถามว่า "ลูกเป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม แม่รักลูก" ทุกเช้าไม่เคยขาด นี่คือความผูกพันที่คุณแม่มีต่อเรา จนผมอายุจะ 60 ส่วนคุณแม่ 90 แล้ว ก็ยังคิดถึงตลอด ผมว่าเป็นความผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเยอะ เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ว่าความผูกพัน ความสำคัญของคุณแม่ที่มีต่อลูกยังเป็นส่วนที่ไม่ได้จางหายไปเลย และเราทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างคนที่ดี สร้างครอบครัวที่ดีด้วย"
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ได้กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครมีสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ที่ตัวเมือง แต่เป็นหน่วยเล็กที่สุด คือ "ครอบครัว" ซึ่งเมืองที่ดีไม่มีทางขาดครอบครัวที่ดีได้ เพราะครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่สุดของเมือง ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง เขตเข้มแข็ง สุดท้ายเมืองก็จะเข้มแข็ง ทุกอย่างเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ครอบครัว" โดยคุณพ่อคุณแม่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลครอบครัว ดูแลลูก ๆ ให้มีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งเมืองจะลดความเหลื่อมล้ำได้ ต้องดูแลลูกให้ลูกได้มีโอกาสที่ดี โดยที่มีทางกทม.หรือหน่วยงานราชการให้การสนับสนุนทุกอย่างที่จำเป็น เพราะฉะนั้น เราต้องเน้นให้ความสำคัญกับหน่วยที่เล็กที่สุด และสุดท้ายก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง
สำหรับการคัดเลือก "แม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร" จะคัดเลือกมาเขตละ 1 คน จาก 50 สำนักงานเขต
ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นแม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร จะต้องมีอายุ 55 ปี ขึ้นไป
เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร
มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน
ส่งเสียบุตร-ธิดาให้ได้รับการศึกษา โดยไม่ทอดทิ้ง บุตร-ธิดา
ประกอบอาชีพสุจริต เป็นผู้มีความเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญา (ยกเว้นลหุโทษ) ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตเป็นหลักฐาน
ไม่เป็นผู้มัวเมาการพนัน ไม่ลุ่มหลงในอบายมุข และไม่ดื่มสุราเป็นอาจิณ
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีถวายพระพรชัยมงคล การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่แม่ตัวอย่างกรุงเทพมหานคร
บูธผลิตภัณฑ์ของบางกอกแบรนด์
บูธผลิตภัณฑ์ของบ้านพักผู้สูงอายุบางแค 2
บูธผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิออทิสติกไทย
บูธผลิตภัณฑ์ของชมรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญากรุงเทพมหานคร
บูธผลิตภัณฑ์ของสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย
บูธผลิตภัณฑ์ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
และบูธผลิตภัณฑ์ของพันธกิจเพื่อคนพิการ รวมถึงมีหน่วยปฐมพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 20 ป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
"บริเวณงานด้านนอกเรามีร้านขายของของชุมชน ผู้สูงอายุ น้อง ๆ ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มเด็กออทิสติก ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าที่นำมาขายเป็นสินค้าที่น่าซื้อ ไม่ใช่การซื้อเพราะความสงสาร แต่เพราะของมีคุณภาพจริง ๆ ตอบโจทย์ตลาดจริง ๆ ซึ่งกทม.ต้องเข้าไปช่วยตรงนี้ เราจะช่วยผู้เปราะบางต้องช่วยทางด้าน marketing ให้คำแนะนำถึงผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดได้ หาตลาดให้ เพราะเมื่อผู้ซื้อซื้อด้วยความต้องการจริง ๆ ผู้ขายจะอยู่ได้อย่างถาวร โดยได้เน้นย้ำกับสำนักพัฒนาสังคมให้ช่วยดูแลตรงนี้ เรามีนโยบาย Made in Bangkok (MIB) เราจะสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาและพัฒนาให้เทียบกับต่างประเทศได้ เราจะมีแพลตฟอร์มที่ช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนได้ในเรื่องตลาด การจ้างงาน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง ทั้งนี้ การพัฒนาต้องไปทั้งระบบ ซึ่งกทม.ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่" นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย