"สูบกัญชา" ในที่สาธารณะ แบบไหน ผิดกฎหมาย แถมเจอโทษ ทั้งจำทั้งปรับ อ่วม
"สูบกัญชา" ในที่สาธารณะ กรมอนามัย แจงชัด แบบไหน ผิดกฎหมาย หากฝ่าฝืน เจอโทษ ทั้งจำทั้งปรับ อ่วม เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจ ดำเนินการได้ทันที
หลังจากประเทศไทย "ปลดล็อกกัญชา" ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 แต่ยังคงเหลือเฉพาะสารสกัดจากกัญชง กัญชา ที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% เท่านั้น ที่ยังถือเป็นยาเสพติด โดยการปลดล็อกในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงได้อย่างเหมาะสม ทั้งปลูกใช้ในครัวเรือน ดูแลผู้ป่วย หรือเชิงพาณิชย์ แต่ดูเหมือนว่า "กัญชา" ยังถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้ง กลิ่น ควัน ในที่สาธารณะ ที่หลายคนยังไม่รู้ว่า หากสูบกัญชาในที่สาธารณะ ผิดกฎหมายหรือไม่
นางณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย กล่าวว่า การสูบกัญชา ก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจตราเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวังแล้วพบเห็นการกระทำดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก
โดยตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น หากเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ไม่เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นยุติเรื่อง แต่หากพบว่าการกระทำนั้น เข้าข่าย เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการ หรือวิธีการที่ใช้การแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไป ภายในระยะเวลาที่กำหนด
นางณีรนุช กล่าวว่า จากนั้นเจ้าพนักงานจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำที่กำหนด หากผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ ในกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่อง ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่น 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการ ให้ผู้ร้องเรียนทราบ หรือยุติเรื่องต่อไป
ทั้งนี้ วิธีและความพร้อมในการออกคำสั่งฯ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นได้วางระบบตรวจตราเฝ้าระวังในพื้นที่ทั่วไป ตรวจเตือนในพื้นที่หรือกิจการกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะกระทำ และแนะนำตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งเหตุ เพราะมีแบบคำสั่งฯ เป็นตัวอย่างในคู่มือฯ ของกรมอนามัย ที่ท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับข้อเท็จจริง ที่ตรวจพบได้เลย
ส่วนการป้องกันการสูบกัญชาในบุคคล อาทิ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชา ซึ่งเป็นสมุนไพรควบคุม โดยควบคุมการใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร อยู่แล้ว
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote