"กทม." เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ปรับปรุงจุดเสี่ยง
"กทม." เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ปรับปรุงจุดเสี่ยง ตรวจเข้มสถานประกอบการ และจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่เขตต่างๆของกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 17/2565 โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำใกล้ชิดต่อเนื่อง
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังจากการประชุมว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ เรื่องการตรวจสถานบริการ จุดเสี่ยงความปลอดภัย และสถานการณ์น้ำ โดย นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำว่า สำนักการระบายน้ำได้รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและเฝ้าติดตามน้ำทางฝั่งตะวันออก ที่คิดว่าจะมีจุดเสี่ยง ซึ่งน้ำทางด้านตะวันออกส่วนใหญ่จะมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กทม. ได้ประสานกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยสถานีสูบน้ำของกรมชลประทานที่เกี่ยวข้องกับ กทม. มีอยู่ 2 สถานี คือ
สถานีคลองหกวาสายล่างมีกำลังการสูบประมาณ 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และสถานีหนองจอก กำลังสูบที่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทุกวันนี้ได้รับความร่วมมือกับกรมชลประทานเป็นอย่างดีในการเดินเครื่องสูบน้ำทั้ง 2 สถานี เพื่อเร่งระบายน้ำออก แต่ปัจจัยหนึ่งคือ น้ำทางด้านตะวันออกจะเข้ามาเติมในส่วนของคลองแสนแสบ ทำให้คลองแสนแสบมีระดับน้ำนอกประตูระบายน้ำมีนบุรีค่อนข้างสูง จึงได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลองในเขตหนองจอก ลาดกระบัง ให้ยกของขึ้นที่สูง ซึ่งจะมีน้ำเอ่อล้นในพื้นที่บางส่วน ตอนนี้เฝ้าระวังด้านตะวันออกเป็นพิเศษ
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ต้องดูปริมาณน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือที่ปล่อยมาสู่ กทม. ด้วย ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 10% แต่ไม่ถึงวิกฤต ในปี 54 มีน้ำประมาณ 70-75% แต่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 45% ก็สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ตัวเลขที่สูงคือด้านตะวันออก เมื่อวานนี้มีน้ำประมาณ 46% ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะที่เดือนนี้เมื่อปีที่แล้วมีประมาณ 6% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วมาก แต่ไม่ต้องตกใจเพราะยังรับน้ำได้อีก น้ำที่ไหลลงมาประมาณ 161 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กำลังของคลองประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงอาจจะมีจุดที่เอ่อล้นตลิ่งบ้าง ทาง กทม. ได้ประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดในการปล่อยน้ำ
น้ำในกรุงเทพมหานคร มี 4 ส่วน คือ น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำท่าที่มาตามทุ่ง และน้ำสวนในพื้นที่ ซึ่งกทม. ก็ได้เดินหน้าเต็มที่ โดยซ่อมแซมจุดฟันหลอนอกคันกั้นน้ำ ยังมีจุดท่วมบ้างนิดหน่อย เช่น พระราม 3 มีจุดที่น้ำซึมจากกระสอบทรายออกมา เป็นจุดที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ได้ดำเนินการแก้ไขอยู่ ในเรื่องน้ำสถานการณ์ช่วงนี้ยังไม่มีอะไรน่าห่วงอะไร มีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเขื่อนซึ่งจะเป็นน้ำที่ลงมาสมทบกับน้ำฝนในอนาคต
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องจุดเสี่ยงความปลอดภัยว่า เรื่องแรกเป็นเรื่องการปรับปรุงทางม้าลายและทางข้าม ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย ที่ผ่านมา 60 วัน ได้มีการดำเนินการทาสีตีเส้น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรไปทั้งหมด 145 จุด มีการล้างทำความสะอาดทางม้าลาย 416 แห่ง มีการติดตั้งไฟกระพริบ 15 แห่ง ส่วนจุดที่เกิดอุบัติเหตุ ได้ความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC) ซึ่งมีสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใน กทม. และมีข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (Intelligent Traffic Information Center : iTIC) ข้อมูลของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เอา 3 ข้อมูลมารวมกัน ก็จะได้จุดที่เกิดเหตุมากที่สุด บ่อยครั้งที่สุด สถิติ 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) จำนวน 100 จุด เป็นตัวตั้งต้น จากนั้นส่งทีมวิศวกรเข้าไปสำรวจกายภาพ ความสมบูรณ์ของถนน พฤติกรรมคนขับ เพื่อหามาตรการในการปรับปรุงจุดเสี่ยงเหล่านี้
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าที่ผ่านมาได้ทำการปรับปรุงจุดเสี่ยงไปแล้ว 14 จุด บางเรื่องต้องหารือกับทางตำรวจด้วย เช่น ปรับทิศทางการจราจร เปลี่ยนจุดกลับรถเพื่อลดจุดตัดของถนน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ยกตัวอย่างจุดสำคัญ ๆ เช่น ที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งได้มีการ์ดเรลแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดจ้างเพื่อฉาบผิวใหม่ เพิ่มความฉุดของถนนเนื่องจากถนนบริเวณโค้งอาจมีความลื่น หรือแยกบางหว้าที่มีผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย ซึ่งทางกายภาพได้ทำต่อเนื่อง และอีกอย่างหนึ่งที่ทำควบคู่กันไป คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ซึ่งกทม. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำคู่ขนานกันไประหว่างทางกายภาพและการรณรงค์ เป็นไปตามนโยบายความปลอดภัยที่ให้ไว้
ขณะที่ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของสถานบริการทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร ว่า กระบวนการตรวจมี 2 แบบ คือ ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นมา เป็นการตรวจจากสำนักงานเขตก่อน โดยดำเนินการตรวจเองและร่วมกับสำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการตรวจ 3 ประเด็นคือ
1. ตรวจป้องกันโควิด-19
2. ตรวจการใช้กัญชาและสารเสพติดอื่น ๆ
3. ตรวจความปลอดภัย ซึ่งเป็นการตรวจตามรอบและมีการตรวจถี่ขึ้น เพื่อจัดทำข้อมูลว่าสถานประกอบการไหนที่มีปัญหาโครงสร้างในการใช้พื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุที่สัตหีบขึ้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งอีกครั้งว่าให้เร่งการตรวจให้เข้มข้นขึ้น จึงได้ทำทีมเชิงรุกเพื่อตรวจติดตามว่าทางร้านได้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ต้องปรับแก้หรือไม่ รวมทั้งมีมาตรการที่กระชับมากขึ้น โดยเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. ซึ่ง 10 วันที่ผ่านมา ได้ตรวจไป 121 แห่ง ซึ่งมีการปรับปรุงในหลาย ๆ เรื่อง
ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในการตรวจสิ่งที่ได้สัมผัสคือ ผู้ประกอบการ 90% มีความตื่นตัวที่จะร่วมมือกับ กทม. ในการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้สถานประกอบการมีความปลอดภัยเต็มที่ หลายที่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงานเขต อย่างที่สีลมซอย 2 มีการแก้ไขในเชิงกายภาพเกือบทั้งหมด แต่พบว่าสถานประกอบการเล็ก ๆ ยังมีความใส่ใจน้อยไป
แต่ขอขอบคุณในความร่วมมือ และขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา อย่างหนึ่งที่ควรต้องเฝ้าระวังก็คือ เมื่อเข้าไปเที่ยว โดยเฉพาะในสถานที่มีความใหญ่ ควรสำรวจว่าโต๊ะตนเองอยู่ใกล้ทางออกหรือทางหนีไฟอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะสนุกสนาน เพราะเมื่อเกิดเหตุตนเองจะต้องฝ่าแนวของคนจำนวนมากที่ต้องวิ่งออกประตู
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเสริมว่า ขอให้ผู้ประกอบการตรวจสอบป้ายสัญญาณต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลากลางคืน และทำแผนที่กำหนดจุดต่าง ๆ บริเวณในร้านให้ชัดเจน และเตรียมรายละเอียดข้อมูลสื่อสารสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติให้ชัดเจน
ด้าน รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวถึงการดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า จากการที่ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี 3 ส่วน คือ กฟน. ได้เอาสายไฟฟ้าลงดินแล้ว 62 กิโลเมตร ปีนี้จะทำเพิ่มอีก 12 กิโลเมตร จากทั้งหมด 236 กิโลเมตร และ 3. กฟน. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. อีก 77 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2570
ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินตามแผนงาน กสทช. ตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีแผนการดำเนินงานนำสายสื่อสารลงดิน ในเขตการไฟฟ้านครหลวง ปี 2565 จำนวน 6 กลุ่ม ดังนี้
1. เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินได้ในปี 2564 การไฟฟ้านครหลวง ระยะทางประมาณ 22 กม.
2. โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม เฉลิมพระเกียรติฯ ระยะทางประมาณ 3 กม.
3. แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ปี 2563 ตามนโยบายของสำนักงาน กสทช. ระยะทางประมาณ 49 กม.
4. แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะทางประมาณ 17 กม.
5. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 1 กม.
6. แผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทางประมาณ 6 กม. ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่สามารถดำเนินการตามแผนปี 2563 และ ปี 2564 ได้ แผนของปี 2565 จึงเป็นการเร่งดำเนินการตามแผนของทั้งสองปีที่ผ่านมา)
ส่วนแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. ในปี 2565 มีดังนี้
1. แผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่ กฟน. กลุ่มเร่งด่วน รวมระยะทางประมาณ 400 กม. แบ่งเป็น กลุ่มย่อยที่ 1 จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 104.83 กม. (แผนของ กฟน. และ สำนักงาน กสทช.) และกลุ่มย่อยที่ 2 จำนวน 169 เส้นทาง ระยะทาง 306.46 กม. (แผนของ สำนักงาน กสทช.)
2. แผนการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนจัดระเบียบสายสื่อสารประจำปีของ กฟน. นอกเหนือจากกลุ่มเร่งด่วน จำนวน 38 เส้นทาง ระยะทาง 346.59 กม. (แผนของ กฟน. และ สำนักงาน กสทช.) โดยกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับ กสทช. อย่างใกล้ชิดเร่งรัดดำเนินการในส่วนเร่งด่วน 400 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จโดยเร็วในปีนี้ ขณะเดียวกันได้ให้สำนักงานเขตสำรวจข้อมูลว่ามีพื้นที่ทางย่อยไหนที่มีสายสื่อสารรกรุงรัง ส่วนไหนมีความสำคัญเร่งด่วนให้มีการดำเนินเร่งด่วนในการตัดสายตาย 600 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าในปีนี้ (2565) สามารถดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารให้แล้วเสร็จ 1,000 กิโลเมตร
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.กล่าวเสริมว่า การเอาสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน. เป็นเรื่องใหญ่ การก่อสร้างใหญ่ในพื้นที่วิทยุ สาทร เป็นโครงการที่ใหญ่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งได้แจ้งให้ กทม. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน เร่งรัดติดตามการดำเนินการ กรณีตัดสายไฟฟ้ารกรุงรังคนที่มีอำนาจคือ กสทช. ซึ่งเป็นผู้ที่ถือใบอนุญาต ส่วน กทม. จะออกกฎไม่ให้มีการแขวนเพิ่ม ฝ่ายปฏิบัติ กทม. จะอยู่ในหน้างานมากกว่า ต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ ส่วนปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินโครงการสายสื่อสารลงดิน ซึ่งเป็นโครงการเก่า ซึ่งเคทีได้ว่าจ้างเอกชน 4 ราย ทำท่อร้อยสายใต้ดิน มีปัญหาว่าทำไปแล้วแต่ยังหาลูกค้าไม่ได้ จึงให้ทางเคทีไปดูให้ชัดเจนว่าทำอย่างไรจะได้ประโยชน์สูงสุด ตอนนี้อาจจะต้องชะลอไปก่อนเพราะเป็นการลงทุนเยอะประมาณ 19,000 พันล้านบาท ทำไปส่วนหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีลูกค้า ต้องให้เคทีศึกษาว่าโครงการยังเป็นไปได้หรือไม่ ต้องดูให้รอบคอบ และแผนธุรกิจยังเป็นไปได้ไหม เพราะปัจจุบันทำเฟสแรกไปแล้วมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาทแต่ยังไม่มีลูกค้า ถ้าทำไปแล้วเป็นหนี้แต่ไม่มีรายได้เข้ามาก็จะมีปัญหา