"กทม."เร่งจัดเก็บผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำเหนือหลาก
"กทม."เร่งจัดเก็บขยะมูลฝอย วัชพืช และผักตบชวาใน"แม่น้ำเจ้าพระยา" ช่วงน้ำเหนือหลาก ลดปัญหาขยะอุดตันระบบระบายน้ำ
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงเรือตรวจการจัดเก็บมูลฝอย ผักตบชวา และวัชพืชทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมให้ข้อมูล ว่า ในช่วงน้ำหลากแม่น้ำเจ้าพระยาจะรับน้ำมาจากทางเหนือเป็นจำนวนมาก หากสังเกตจะเห็นว่าน้ำเริ่มเป็นสีแดง
ในขณะเดียวกันก็จะมีผักตบชวาลอยตามลงมาด้วย ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตบางนา ระยะทาง 33.25 กิโลเมตร และคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 4.20 กิโลเมตร สำนักสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการจัดเก็บมูลฝอย ผักตบชวา และวัชพืชที่ลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือจัดเก็บมูลฝอยทั้งหมด 53 ลำ ประกอบด้วย
เรือเก็บขนมูลฝอย ขนาด 2 x 8 เมตร จำนวน 34 ลำ
เรือเก็บขนมูลฝอย ขนาด 2 x 6 เมตร จำนวน 3 ลำ
เรือตรวจการณ์ จำนวน 1 ลำ
เรือเก็บขนขยะและวัชพืช ขนาด 4 x 14 เมตร จำนวน 6 ลำ
เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช ขนาด 6 x 14 เมตร จำนวน 3 ลำ
เรือขนถ่ายลำเลียงมูลฝอยและวัชพืช ขนาด 6.3 x 19 เมตร จำนวน 3 ลำ
เรือกวาดเก็บมูลฝอยและวัชพืช ขนาด 3.5 x 14 เมตร จำนวน 3 ลำ
โดยมีเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 172 คน ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. จัดเก็บขยะได้ประมาณ 11 ตันต่อวัน
ถ้าในช่วงน้ำหลากบางครั้งจัดเก็บขยะได้ถึง 15 ตันต่อวัน เป็นผักตบชวาประมาณ 99% ที่เหลือจะเป็นพลาสติกหรือขอนไม้ที่ลอยมากับน้ำ
ดังนั้น ผักตบชวาจึงเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีคลองย่อยต่าง ๆ อาจมีผักตบชวาลอยเข้าไปทำให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ เช่น คลองบางกอกน้อย บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันจนถึงเวลา 20.00 น.
ทางด้านผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมก็ได้เป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน จึงให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำได้ส่งเรือเข้ามาช่วยประมาณ 7 ลำต่อวัน พร้อมเจ้าหน้าที่ประมาณ 4-5 คน มาช่วยจัดเก็บผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผักตบชวาที่จัดเก็บได้จะนำไปกำจัดโดยการฝังกลบที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม
"เรื่องการระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพมหานคร ถ้าเราทุกคนร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ระบบการระบายน้ำก็จะดียิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาขยะอุดตันประตูระบายน้ำ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังได้ หากประชาชนมีความประสงค์จะทิ้งขยะชิ้นใหญ่ สามารถติดต่อฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตในพื้นที่ เพื่อดำเนินการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในหมู่บ้านหรือตามจุดนัดทิ้งในแต่ละสัปดาห์" นายจักกพันธุ์ กล่าว