"กทม." จับมือ "JICA" และเมืองโยโกฮาม่า ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero
"กทม." จับมือ "JICA" และเมืองโยโกฮาม่า จัดเสวนาขับเคลื่อนงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าสู่ Net Zero
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา "กรุงเทพมหานครกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Bangkok Climate and Energy Action Conference for Net Zero Greenhouse Gas Emission)" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และเมืองโยโกฮาม่า เพื่อเผยแพร่แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นายทาคุโระ ทาซากะ (Mr. Takuro Tasaka) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายเรียวอิชิ กาวาเบะ (Mr. Ryoichi Kawabe) ผู้แทนอาวุโส องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมงานเสวนา ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตราชเทวี
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโลกร้อนนับเป็นประเด็นสำคัญที่แต่ละประเทศให้ความสนใจและเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮาม่ามาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเริ่มจากการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2550 – 2555 ซึ่งภายหลังนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 และมาถึงแผนแม่บท ฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2564 – 2573) มีความสอดคล้องกับความตกลงปารีส และในการดำเนินงานได้บูรณาการนโยบายและโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนดังกล่าวในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ร่วมกับ เมืองโยโกฮาม่า สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่สนับสนุน ได้แก่
1. การจัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานของกรุงเทพมหานคร
2. การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน
3. การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน
โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้นำร่องจากกิจกรรมที่เห็นผลได้จริง โดยจะพัฒนา โครงการ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) เพื่อเป็นแบบอย่างของการเอาจริง เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่องค์กรอื่น โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการผลิตพลังงานทดแทน การใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางพลังงาน สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV car) รวมทั้งสนับสนุนการเดินทางโดยรถสาธารณะ ที่สำคัญคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น ภายใน 4 ปี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้ว 1.6 ล้านต้น ภายใน 3 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกคนมาร่วมมือกัน เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิกาศในกรุงเทพมหานคร
"เรื่องก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั้งโลก (Global) คิดเป็นนโยบายต่อเนื่องมา แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละท้องที่ (Local) ต้องมีนโยบายที่ทำให้เป็นจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่นั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ทางองค์การ JICA ได้ทำเรื่องเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างต่อเนื่อง และทำเรื่อง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ (Carbon Footprint) ไว้แล้ว หน้าที่เราคือทำยังไงที่จะสามารถลดได้ ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ ลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะและน้ำเสีย และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก คิดว่าการเสวนาในวันนี้จะได้แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและสามารถทำให้กรุงเทพมหานคร ก้าวไปสู่ Net Zero ได้" นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าว
สำหรับการประชุมเสวนาฯ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ 2 คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน โดยแบ่งการบรรยายออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ในช่วงเช้า บรรยาย ในหัวข้อ "ภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร"
โดยผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และการเสวนา ในหัวข้อ "มุมมองจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ต่อภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร" ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการเสวนา ในหัวข้อ "สถานการณ์ล่าสุดของแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" และการเสวนา หัวข้อ "กรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามาภายใต้โครงการความร่วมมือ City-to-City" โดยผู้ร่วมเสวนามากจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายของกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจกรรมปิดไฟ ลดโลกร้อน และภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการจัดการพลังงาน และด้านการขนส่ง รวมถึงภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
การเสวนาในครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคเอกชนในด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ และพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกรุงเทพมหานครและภาคเอกชนทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนแล้ว กรุงเทพมหานคร ยังพยายามดำเนินการให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 และได้ปรับการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ ในปี พ.ศ. 2573 ที่ร้อยละ 19 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส และสอดคล้องกับแผนระดับประเทศ ด้วยการจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ สร้างความยั่งยืนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครต่อไป
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)