เมืองร้อน ก็ปลูก "ลิ้นจี่" ผลดกได้ เคล็ดลับจาก "ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม"
"กระทรวงการอุดมศึกษาฯ" ส่งนักวิจัยร่วมชาวบ้าน จ.สมุทรสคราม แก้ปัญา "ลิ้นจี่" ไม่ออกผลสำเร็จ พบปัญหาอุณหภูมิในพื้นที่สูงเกิน ส่งผลไม่มีเกสรเพศผู้ผสมพันธุ์
"ลิ้นจี่" เป็น ผลไม้ ที่อยู่กับสภาพอากาศหนาวและกึ่งหนาว ดังนั้นหากปลูกผิดที่ ก็จะพบกับ ไม่ออกดอก ไม่ออกผล แต่ทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถทำให้ออกผลได้แล้ว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า "ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม" เป็นลิ้นจี่พันธุ์ที่ได้รับนิยมอย่างมากในจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาลิ้นจี่ไม่ติดผลอย่างต่อเนื่องทำให้ขาดรายได้ และบางรายตัดโค่นลิ้นจี่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน
เมื่อปี 2559 กระทรวงอุดมศึกษาฯ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ การแก้ปัญหาการไม่ออกดอกติดผลในลิ้นจี่พันธุ์ค่อม และการขยายผลในการสร้างเครือข่ายกลุ่มลิ้นจี่ในจังหวัด สมุทรสงคราม ซึ่งมี รศ.ดร.คณพล จุฑามณี จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ได้จัดตั้ง "ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม" เมื่อปี 2561 ที่สวนลิ้นจี่ 200 ปี เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เรื่องลิ้นจี่ที่ครบวงจร รวมทั้งมีการพัฒนาเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้มาตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่รศ.ดร.คณพล กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูก "ลิ้นจี่" เริ่มได้รบผลกระทมาตั้งแต่ปี 2556 โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรตำบลแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม จึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และได้นำเสนอปัญหาดังกล่าวแก่เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคกลาง ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ทำให้มีนักวิชาการจากหลายหน่วยงานลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัย เพื่อแก้ปัญหาการออกดอกและติดผลในลิ้นจี่จังหวัดสมุทรสงคราม
จนกระทั่งพบสาเหตุลิ้นจี่ไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย เป็นเพราะอุณหภูมิในเขตภาคกลางที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มีไม่เพียงพอ หรือมีน้อยวัน ดังนั้นต้องหาวิธีการทดแทนสภาพอุณหภูมิต่ำเพื่อกระตุ้นการออกดอกของลิ้นจี่ รวมถึงดอกลิ้นจี่ไม่มีเกสรเพศผู้ จึงไม่เกิดการผสมเกสร ทำให้ต้องหาวิธีการเพิ่มการติดผลของลิ้นจี่มากขึ้น ซึ่งกลุ่มเกษตรกรตำบลแควอ้อม ได้นำความรู้เรื่องลิ้นจี่จากปราชญ์ชุมชน และจากหน่วยงาน งานวิจัยต่างๆ มาแก้ไขปัญหา เช่น ศึกษาวิธีการกระตุ้นการออกดอกจากพืชชนิดอื่น ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ นำวิธีแก้ปัญหาในต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น การผสมเกสรโดยใช้เรณูของลิ้นจี่ต่างพันธุ์ โดยทดลองใช้ละอองเรณูจากลิ้นจี่พันธุ์ไทยและพันธุ์จีน ทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมสามารถติดผลได้ และการพ่นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในช่วงลิ้นจี่ออกดอก และเลี้ยงผึ้งเพื่อช่วยผสมเกสร
นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม นำความรู้ไปแก้ปัญหาให้เกษตรกร และรวบรวมไว้จุดเดียวกัน จึงเกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัย แหล่งรวบรวมความรู้เรื่องลิ้นจี่ที่ครบวงจร เป็นแหล่งความรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ถือเป็นความสำเร็จจากที่เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคกลาง เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK
.
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่