"กทม." ตรวจพื้นที่สวนเสรีไทย ติดตามงานสำนักสิ่งแวดล้อม
"กทม." ตรวจพื้นที่สวนเสรีไทย ติดตามงานในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินราคาในการปรับปรุง
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม จำนวน 2 จุด ประกอบด้วย
จุดที่ 1 การปรับปรุงสวนเสรีไทย ณ สำนักงานสวนเสรีไทย
จุดที่ 2 การตรวจมลพิษรถสองแถวประจำทาง ณ หมู่บ้านเอื้ออาทรเสรีไทย (หลังสำนักงานเขตบึงกุ่ม)
โดยมี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สำนักสิ่งแวดล้อมมีสวนสาธารณะหลักและสวนสาธารณะรองที่อยู่ในการดูแล จำนวนรวมกว่า 63 แห่ง ส่วนใหญ่เปิดให้บริการมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ทางเดิน -วิ่ง อาคารสุขา สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย เสาไฟส่องสว่าง ป้ายบอกทาง ได้ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เกิดความปลอดภัย และมีความเหมาะสม
รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม จากการลงพื้นที่พบว่าอาคารสำนักงานสวนเสรีไทย มีสภาพทรุดโทรม ตัวอาคารมีพื้นที่จำกัด ต้องจัดสรรพื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่ชั่วคราว สำหรับจัดเก็บเอกสารและอุปกรณ์สำนักงาน นอกจากนี้ภายในสวนเสรีไทย มีอาคารสุขาสาธารณะ จำนวน 2 หลัง
ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย โดยดำเนินการปรับปรุงหลังคาอาคาร ทำระบบกันซึมใหม่ เปลี่ยนสุขภัณฑ์ 25 ชุด เดินระบบท่อสุขาภิบาลใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนกระเบื้องพื้นและผนัง ปรับปรุงฝ้าเพดาน ติดตั้งถังบำบัดใหม่ 2 ชุด ติดตั้งถังเก็บน้ำพร้อมปั๊มน้ำ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสวนทุกกลุ่มอายุและสภาพร่างกาย มีสุขาสาธารณะที่ใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย
ด้านพื้นที่กายภาพของสวนเสรีไทย มีแนวเขื่อนบึงรับน้ำเสรีไทยบางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้มีน้ำกัดเซาะเข้ามาในพื้นดิน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินราคาในการปรับปรุง ส่วนสะพานทางเดินข้ามบึงเสรีไทย ซึ่งพื้นทางเดินชำรุด จึงจำเป็นต้องปิดการใช้งานนั้น อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตบึงกุ่ม ได้มอบหมายให้เขตบึงกุ่ม ดำเนินการออกแบบใหม่ เพื่อนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสม และประเมินราคาในการปรับปรุงต่อไป
จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจมลพิษรถสองแถว สาย 1538 บริเวณหมู่บ้านเอื้ออาทรเสรีไทย (หลังสำนักงานเขตบึงกุ่ม) เส้นทางเดินรถวิ่งระหว่างเขตบึงกุ่ม-ถนนเสรีไท 41-43 วิ่งลักษณะเป็นวงเวียน มีจำนวนรถทั้งหมด 17 คัน ซึ่งมีหน่วยงานร่วมตรวจ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดและอุปกรณ์ ร่วมตรวจวัดโดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำและเครื่องตรวจวัดระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ จากสถิติข้อมูลการตรวจวัดมลพิษ (ควันดำ) จากปลายท่อไอเสียรถสองแถว ณ อู่หรือท่าปล่อยรถในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามแผนปฏิบัติงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-เดือนสิงหาคม 2565 มีรถสองแถวได้รับการตรวจวัดมลพิษ (ควันดำ) จำนวน 41 สาย ดำเนินการตรวจวัดมลพิษ จำนวน 500 คัน ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 1 คัน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 30 ด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสง และต้องไม่เกินร้อยละ 40 ด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรอง ส่วนค่ามาตรฐานเสียง ระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ ไม่เกิน 100 เดซิเบล
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณจุดตรวจวัดบริเวณสวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม จากสถิติการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2563-2565 พบว่า ปี 2563 ค่าสูงสุด 57 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 25 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 1 วัน ปี 2564 ค่าสูงสุด 77 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 21 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 17 วัน ปี 2565 ค่าสูงสุด 75 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 24 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 8 วัน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ปี 2564 กับปี 2565 ค่าสูงสุดลดลง 3% ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13% จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 53% (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ส.ค.65)
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั้ง 50 เขต และ 20 สวนสาธารณะ รวมทั้งหมด 79 สถานี ทั้งแบบเสาเหล็ก 46 จุด เครื่องตรวจวัด PM2.5 ในสวนสาธารณะ 20 แห่ง และบริเวณอื่น ๆ 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียง 1 คัน รถตรวจวัดคุณภาพอากาศ 4 คัน (Mobile) และแบบตู้คอนเทนเนอร์ 4 สถานี โดยเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศกับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานี ในปี 2565 บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM10 PM2.5 PM1 และอุตุนิยมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 452 จุด แบ่งเป็นหน่วยงานกรุงเทพมหานคร 170 จุด เช่น โรงเรียน สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศพระโขนงและราชเทวี และหน่วยงานอื่น ๆ 282 จุด และมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน RGuard
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)