ผลวิจัยระบุ"เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000บาท"แบบถ้วนหน้า มีความเป็นไปได้
มส.ผส.-วช. เปิดผลวิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย สร้าง สังคมสูงวัยแบบพฤฒพลัง อย่างยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตใหม่ เผยผลศึกษาอาจารย์มธ. ระบุ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000บาท" แบบถ้วนหน้า มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. 2565 “การเตรียมความพร้อมรอบด้านในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์สู่สังคมไทยที่มีสุขอย่างยั่งยืน” โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย เรื่อง “สังคมสูงวัยที่ยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตใหม่” เกิดเป็นชุดงานวิจัยและกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายผ่านกระบวนการ Policy Dialogue Process จำนวนทั้งหมด 18 เรื่อง
ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) กล่าวว่า มส.ผส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการศึกษาและวิจัยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งเชิงสถานการณ์และหาช่องว่างทางความรู้ในการพัฒนานโยบายของประเทศให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 มุ่งสู่ Active & Productive Ageing ตลอดจนนำองค์ความรู้ปรับใช้ และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเต็มศักยภาพ
โดยมีเป้าหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การมีที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง 2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดํารงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 3. การพัฒนาโครงสร้างและนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในชุมชน และ 4. พัฒนาระบบข้อมูลและตัวชี้วัดสําหรับประเมินศักยภาพ ภาวะพฤฒิพลัง และความต้องการด้านบริการสุขภาพ และบริการทางสังคมสําหรับผู้สูงอายุ
ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า ข้อค้นพบที่สำคัญในการศึกษาวิจัย อาทิ ประเด็นที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง ควรมีการจัดบริการทางสังคม (social service) ที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสังคม โดยเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในแต่ละพื้นที่ ร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม NGOs วัด โรงเรียน โรงพยาบาล นอกจากนี้ควรจัดบริการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) รวมทั้งการเตรียมพร้อมและการเข้าถึงบริการทางสังคมเพื่อการสูงวัยอย่างมีพลัง และการประเมิน/ติดตาม การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ (ดัชนีพฤฒพลัง) และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ โครงการวิจัยการวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลังแหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคํานึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ของ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ควรปฏิรูประบบบํานาญและการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เสนอให้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เดือนละ 3,000 บาท และออกแบบระบบบํานาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับมัธยฐานของการครองชีพสําหรับครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาท/เดือน
โดยให้ผู้ทํางานอยู่นอกระบบสามารถทําการออมและให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกันซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบํานาญภาครัฐ
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจํากัด สร้างระบบฐานข้อมูล ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและเสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ”จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน)
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านการเตรียมรับสังคมสูงวัย (ววน.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สังคมสูงวัย เป็นประเด็นที่มีความท้าทาย ทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงทำให้ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาสุขภาพ ป่วยเรื้อรัง ติดเตียง เหงาซึมเศร้า ปัญหาที่พักอาศัย รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินออม ก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน โดย วช.กำหนดทิศทางการสนับสนุนการวิจัยที่สอดคล้องกับแผน ววน. พัฒนาสังคมสูงวัยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2 ด้าน คือ 1.การพัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเอง มีคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม 2.การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของวัยแรงงานในภาคชนบทและเมือง เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมในการเป็นสังคมสูงวัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริมให้ประชากรไทยช่วงวัยแรงงาน (25-59 ปี) มีการเตรียมการเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
7ทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุของวช.
นางสาวศิรินทร์พร กล่าวต่อว่า การร่วมมือกับ มส.ผส.และภาคีเครือข่ายในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่ง วช. มีทิศทางการทำงานดังนี้ 1.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิมอย่างเหมาะสม (Ageing in Place) 2.สนับสนุนคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ 3.สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต 4.ส่งเสริมให้ อปท. และชุมชน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ 5.จัดบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ 6.ส่งเสริมให้ อปท. และเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ 7.ยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยและการดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานยังได้เชิญหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เข้าแลกเปลี่ยนในวงเสวนาเรื่อง “พลังความรู้สู่นโยบายและการปฏิบัติ...เพื่อสังคมสูงวัยที่ยั่งยืน” ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทุกภูมิภาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลัง (Active and healthy aging) สำหรับผู้สูงอายุ เช่น “กินอย่างไร ให้สมวัย สว.”, “สูงวัย (แต่ง) อย่างไรให้สง่า”, “สูงวัย ก้าวทันเทคโนโลยี”, “หนุนนำใจ บรรยายธรรม : สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ”, “โยคะกายขยับ กระฉับกระเฉง” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube -https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday- https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง “คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565” ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524