"กทม." จับมือ "ยูนิเซฟ" เก็บข้อมูลแก้ปัญหา "กลุ่มเด็กและสตรี"
"กทม." จับมือ "ยูนิเซฟ" และ "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" เก็บข้อมูล "สถานการณ์เด็กและสตรีในชุมชน" อย่างละเอียด พร้อมเล็งเปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้จริงและมีประสิทธิภาพ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์ การเก็บข้อมูล สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS 7) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ ชุมชนซอยโจ๊ก เขตบางซื่อ
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ข้อดีขององค์การยูนิเซฟคือ การเก็บรวบรวมเพื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นจุดแข็งซึ่งจะมีหลักทางวิชาการ สามารถนำไปอ้างอิงและดูการพัฒนาการได้ดี
ฐานข้อมูลปัจจุบันเป็นข้อมูลที่มีการเก็บมานานถึง 17 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้มีความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟอย่างเข้มแข็ง การบริหารจัดการข้อมูล กทม. ต้องเริ่มจากชุดข้อมูลที่มีคุณภาพก่อนที่สามารถลงรายละเอียดเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้ ซึ่งไม่ใช่แค่มิติเรื่องเด็ก เรื่องสตรี แต่ยังรวมไปถึงมิติอื่นๆ เช่น เรื่องโปร่งใส เรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจ การศึกษา เรื่องสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ต้องมีข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งทางยูนิเซฟบอกว่าสามารถเปิดเผยให้เห็นได้ ถือว่าเป็นเรื่องดี ทำให้เราสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง
ถ้าเรามีการเปรียบเทียบก็จะเห็นได้ว่าเราใช้งบประมาณไปถูกทางไหม และมีการพัฒนาไปให้สอดคล้องกับความต้องการจริงๆ หรือไม่
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวต่อไปว่า เรื่องการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ พื้นฐานทางสถิติก็สำคัญ กทม.พร้อมที่จะร่วมในการเก็บข้อมูลสถิติ บางครั้งอาจมีความยากในการจัดเก็บข้อมูล เช่น ปัจจุบันใน กรุงเทพมหานคร มีประชากรที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมาก และการเข้าถึงเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในห้อง ซึ่งทาง องค์การยูนิเซฟ ก็จะมีวิธีเจาะถึงประชากรกลุ่มนี้ได้ เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพหรือตรงกับความต้องการจริงๆ
ดังนั้นอะไรที่สามารถร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสำรวจข้อมูลครั้งนี้ได้ก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
"ปัจจุบันเราเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ในอนาคตเราอาจจะมีอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำหมู่บ้าน เช่น การสำรวจสถิติคนย้ายเข้าย้ายออกในชุมชน มีคนพูดกันเยอะว่าจุดเปราะบางอยู่ตามจังหวัด แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย จุดเปราะบางอยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละ อยู่ในมุมที่เราไปไม่ถึง ซึ่งเมื่อเราได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้วย ที่ผ่านมามีความไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมดุลของข้อมูล ภาครัฐอาจถือข้อมูลไว้เยอะ แต่ภาคเอกชนหรือประชาชนไม่มีข้อมูล ถ้าเราสามารถแบ่งปันข้อมูลให้เกิดความสมดุลทั้งสองฝั่ง ก็จะเกิดความโปร่งใส สามารถนำข้อมูลไปทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นนโยบายหลักของกทม. คือ Open Data การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งก็มาจากแนวคิดหลักคือ Open Bangkok ก่อนเราจะคิดถึงอนาคตได้ เราต้องรู้ถึงปัจจุบันก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน จุดไหนที่อ่อนเราต้องปรับปรุงให้ดี" นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กว่าวด้วยว่า มิติที่กำลังดำเนินการอยู่ 2 เรื่องที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งจะเริ่มนำเด็กเข้าสู่ระบบมากขึ้น และการทำ Sandbox เรื่องการศึกษา กทม.เหมาะที่จะเป็น Sandbox มากที่สุดเพราะอยู่ใกล้ชุมชนซึ่งก่อนนี้ยังไม่เคยทำ แต่ขณะนี้ได้เสนอเข้าไปแล้ว 54 โรงเรียนให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox)
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คุณคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย คุณนงลักษณ์ โงวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการกองสถิติสังคม คุณอำไพ จิตรแจ่มใส ผู้อำนวยการกองบริหารจัดเก็บข้อมูลสถิติ ดร.จิรวัส พูลทรัพย์ ผู้จัดการโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานเขตบางซื่อ ร่วมลงพื้นที่สำรวจและให้ข้อมูล ณ ชุมชนซอยโจ๊ก เขตบางซื่อ
ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมให้ข้อมูล เพื่อการจัดเก็บสถิติที่ดี ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ในการออกแบบ กำหนดมาตรการ นโยบายต่างๆ รวมทั้งสวัสดิการแห่งรัฐในหลายๆ เรื่อง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)