พบแล้ว "น้ำท่วม"เขตลาดกระบัง เพราะ? "ธนฤต" นำ"ผู้ต้องขัง" ลุยลอกท่อ
"ธนกฤต" ระดมกำลัง "ผู้ต้องขัง" ลุยลอกท่อเขตลาดกระบัง พบ ดิน ทราย หิน เต็มท่อ สาเหตุน้ำระบายช้า ขณะที่ "ดร.เอ้" เผยสาเหตุจากพื้นที่ลุ่มต่ำ
ช่วงเช้าของวันนี้ 8 ก.ย. เพจศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ ฝน ระบุว่า เวลา 06.30 น.จะมีฝนเล็กน้อยเบาบางเขตบางขุนเทียน ฝนเล็กน้อยฝั่งพระนครเขตมีนบุรี คลองสามวา ดอนเมือง เคลื่อนตัวทิศตะวันตกเฉียงใต้ เเนวโน้มลดลง แต่ในเขต เขตลาดกระบัง จะมีปริมาณฝนรวมสูงสุด 131.5 มม.
ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจในโครงการพระราชดำริฯ ลงพื้นที่บริเวณสถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนปัญหาเรื่องดังกล่าวเข้ามาจำนวนมาก
โดยจากการลงพื้นที่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงลอกท่อด้วยตัวเองและพบว่ามี ดิน ทราย หิน จำนวนมาก เมื่อนำออกจากท่อ น้ำที่ท่วมขังสามารถระบายได้เร็วขึ้น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นภารกิจพิเศษที่ต้องเร่งช่วยประชาชน แม้ไม่ใช่ภารหลักก็ตาม
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวว่า ได้รับการมอบหมายจากนาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้ตนและพันเอกปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงศ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี นำผู้ต้องขังกองงานสาธารณะ กว่า 40 ราย ลงพื้นที่เพื่อลอกท่อระบายน้ำ เนื่องจากมีเศษวัสดุที่เป็นกรวดหินดินทรายจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ระบายได้อย่างล่าช้า จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ใช้เวลาประมาณ 4 ชม. บางจุดปริมาณน้ำลดแล้ว บางจุดแห้งแล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้รับเหมา ก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จะต้องติดต่อทางสำนักงานเขตทำการลอกท่อในนช่วงนี้ และที่สำคัญ ต้องทำแนวกั้นดิน ทราย กรวดหิน ลงไปในท่อ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ร่วมมือ กทม. มาตลอด แต่ตอนนี้นับว่าต้องมาช่วยกัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุน้ำท่วมลาดกระบัง
1. ต้องรู้ว่าพื้นที่กรุงเทพตะวันออก เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำระดับต่ำใกล้น้ำทะเล ฝนตกมา ก็เป็นแอ่งกะทะ น้ำท่วมได้ทันที และจะท่วมหนักขึ้นเพราะเป็นดินอ่อน ทรุดตัวง่ายมากที่สุดในกรุงเทพ ปล่อยปัญหาไว้ไม่ได้
2. ทางรอดเร่งด่วนทางเดียว คือ การเร่งระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ทำไดัโดยการใช้ระบบเครือข่ายเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพ ทำงานอัตโนมัติ เพราะหากเครื่องสูบน้ำไม่เพียงพอ ยังทำงานแบบรอคนมาเปิดปิด ไม่ทัน ยิ่งหากยังใช้เครื่องดีเซลอยู่ ต้องรอเติมน้ำมัน ไม่ทันการณ์
3. เส้นทางสูบน้ำท่วมออก ช่วยพื้นที่กรุงเทพตะวันออก มี 2 เส้นทางหลัก คือ 1. ทางตะวันออก ออกทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และ 2. ทางใต้ ออกทางคลองประเวศบุรีรัมย์ มุ่งสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อสูบน้ำขึ้นระบายบนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่สูงกว่า
4. เมื่อเห็นภาพตาม ข้อ 1 ถึงข้อ 3 แล้ว ความจริงคือ 1. การประสานงานระหว่างจังหวัด กทม. และฉะเชิงเทรา เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมร่วมกันได้จริงๆ น้ำท่วมจึง (ไม่ค่อย) ได้ถูกระบายทางตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้จุดน้ำท่วมมากที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด
จึงเหลือเพียง ทางออกทาง แม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ห่างไกลร่วม 30 กิโลเมตร ผ่านทางคลองประเวศฯ แต่วันนี้ ไม่ยอมให้น้ำไหลออกทางนี้มากนัก ประตูน้ำปิด เพราะตลิ่งในเขตชั้นในยังทำไม่เรียบร้อย กลับคุมระดับน้ำไม่ได้
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่