"สธ." แถลงแผนรักษา "โควิด" หลัง 1 ต.ค. เน้นย้ำควรรับ "วัคซีน" 4 เข็มอย่างต่ำ
"สธ." แถลงแผนรักษา "โควิด" หลัง 1 ต.ค. ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมเชิญชวน "ฉีดวัคซีน" อย่างต่ำ 4 เข็ม ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ยืนยัน ยาและวัคซีนมีพร้อม
หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับให้ "โควิด-19" จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง รวมถึง ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน และยุบ ศคบ. เพื่อให้ประชาชนและผุ้ประกอบการ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เริ่ม 1 ต.ค. นี้ ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัย ว่า หากเป็นเช่นนี้ การรักษาจะเป็นอย่างไร ยังมีให้บริการฉีดวัคซีนต่อหรือไม่
วันนี้ 26 ก.ย. นาย อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข , นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวชี้แจงถึงการป้องกันควบคุมโควิด 19
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำมาก ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO และประชาคมโลก มีอัตราป่วยและเสียชีวิตระดับต่ำ
ขณะที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกัน ทั้งมาจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมาจากการติดเชื้อ โดยในช่วงเดือนกันยายนนี้ มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก รวมถึงมีอาการไม่รุนแรง
นายอนุทิน กล่าวว่า แม้จะมีการยกเลิกดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรักษามาตราการต่างๆ ล้างมือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่เพียงแค่ป้องกันโควิด แต่ยังลดการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจ
ส่วนที่หลายคนเข้าใจว่า เมื่อลดระดับสถานการณ์โควิดแล้ว การดูแล "รักษาโควิด" จะทำอย่างไรต่อ นายอนุทิน ยืนยัน ยังสามารถรักษาได้ตามสิทธิเช่นเดิม ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกสถานพยาบาล และแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องใช้ยาหรือไม่ ส่วนวัคซีน ยังมีสถานพยาบาลและศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนฟรีอยู่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้วางจำหน่ายเอง ดังนั้นสรุปแล้ว ไม่ได้ปรับลดอะไร แต่เพียงผ่อนคลายมาตราการต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ประชาชนดำเนินชีวิตและธุรกิจได้ปกติ
ด้านนพ.สุระ กล่าวถึงการจัดเตรียมยารักษา ที่ขณะนี้มีเพียงพอ ยาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 3 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 4.5 เดือน ยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด เพียงพอใช้ครึ่งเดือน หลังจากนี้ซึ่งมีแผนจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน และหากในอนาคตผู้ป่วยน้อยลงจะมียาใช้ได้นานกว่าที่ประมาณการ
ด้านนพ.โอภาส ประชาสัมพันธ์ประชาชนทั่วไป ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย สำหรับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ให้คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
ส่วนมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง 2 กลุ่มนี้ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง และ 4.ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน 2 กลุ่มนี้จะรักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน
"ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้" นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด 19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ด้านนพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส
ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาต้องใช้ยาตัวไหน รักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นยาเรมดิซีเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ตามลำดับ
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่