เทือกเขา "อันนัม" ป้อมปราการ ธรรมชาติ ทำ ไทย รอดพ้นจากหลาย พายุ รวมทั้ง โนรู
เทือกเขา "อันนัม" ป้อมปราการ ธรรมชาติ ทำ ไทย รอดพ้นจากหลาย พายุ รวมทั้ง "โนรู" คำจำกัดความ ที่ ดร.ธรณ์ ระบุ พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา
จากการที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเป็นครั้งสุดท้าย "พายุโนรู" อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ที่รุนแรงไปมากกว่านี้ ซึ่งตำนานความเป็นมา ที่ถูกพูดถึง ซึ่งทำให้ พายุ หลายต่อหลายลูก รวมทั้ง "โนรู" อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะ เทือกเขาอันนัม เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย ซึ่ง "ดร.ธรณ์" ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้คำจำกัดความว่า "พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา"
เปิดตำนาน เทือกเขาอันนัม
ทุกครั้งที่พายุก่อตัวในทะเลจีนใต้ในหน้ามรสุม พายุจะพัดเข้าหาฝั่งในทะเลจีนใต้ ผ่านฟิลิปปินส์ เข้าสู่เวียดนาม ลาว แล้วเข้าสู่ประเทศไทย แต่เมื่อใดเมื่อพายุพัดขึ้นไปทางเหนือของเวียดนาม มักจะติดอยู่กับกำแพงธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ นามว่า "เทือกเขาอันนัม" (annamite range) อันเป็นเทือกเขาที่ทอดตัวยาว 1,100 กิโลเมตร กั้นระหว่างชายแดนเวียดนามและลาว ทอดจากเหนือลงใต้ กั้นเวียดนามกับกัมพูชาทางตอนเหนือ มียอดสูงสุดชื่อภูเบี้ย (ลาว) สูง 2,819 ม.รทก.ซึ่งสูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ของไทย 300 เมตร
ด้วยความสูงระดับนี้ จึงเป็นปราการสำคัญ ที่ช่วยชีวิตคนไทยหลายต่อหลายครั้ง จากพายุที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ และอ่าวตังเกี๋ย ให้หยุดอยู่ที่ขุนเขา หรือบางครั้งสลายตัวไป เราจึงเห็นพายุสีแดง ๆ หยุดแช่อยู่ที่ขุนเขาแห่งนี้ เป็นเวลานาน ๆ เรียกว่าถ้าไม่แรงจริง ก็จะไม่ทะลุฝ่ากำแพงอันแข็งแกร่งนี้มาถึงประเทศไทยได้ หรือบางทีก็เป็นข้อเสียอยู่บ้าง ที่สกัดกั้นให้ฝนมาไม่ถึงภาคอีสานของไทยในยามที่ต้องการน้ำเพื่อการเกษตรยอดที่สูงส่วนใหญ่อยู่ช่วงกลาง ๆ ของประเทศค่อนไปทางเหนือ ตรงกับประเทศไทยก็ตั้งแต่ชายแดนนครพนม ขึ้นไปหนองคาย และ จ.เลย
"ยอดเขาอันนัม" นอกจากจะกั้นไทยจากพายุแล้ว ในฤดูหนาว บางครั้งมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจากประเทศจีน ก็ถูกสกัดกั้นให้หยุดอยู่ที่นี่ได้เช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีอะไรสกัดกั้นยามมีภัย
นอกจากนั้น อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้น เรื่อยจนถึงป่าดิบเขา ที่สำคัญในอินโดจีน เป็นถิ่นที่อยู่ของ “เสาลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม ขณะเดียวกัน อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมร มีความสุข ความสูงและกว้างใหญ่ของเทือกเขาอันนัมนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ ป่า เขา และสัตว์ป่า นับเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีค่าของโลกแห่งหนึ่ง นั่นจึงเป็นที่มาที่ ดร.ธรณ์ ระบุว่า นี่คือประโยคสั้น ๆ แต่คิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีที่สุด โนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้
ดังนั้น คำถามที่ว่า แล้วโนรูตายที่ไหน คำตอบคือพายุหมดแรงบน "อันนัม" (annamite range) ป้อมปราการ ธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057