ข่าว

ผู้ป่วย "บัตรทอง" โรคเรื้อรัง เช็คช่องทาง รักษา หลัง 9 รพ.เอกชน ถูก ยกเลิกสัญญา

ผู้ป่วย "บัตรทอง" โรคเรื้อรัง เช็คช่องทาง รักษา หลัง 9 รพ.เอกชน ถูก ยกเลิกสัญญา

01 ต.ค. 2565

สปสช. แจ้งช่องทาง รักษาและรับยา ต่อเนื่อง ผู้ป่วย "บัตรทอง" โรคเรื้อรัง หลัง ยกเลิกสัญญา โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ใน กทม.

จากกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญา โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง 30 บาท" ที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ที่ถูกยกเลิกสัญญาหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ สปสช. ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(1 ต.ค.2565) พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ยังอยู่ในการรักษา และต้องรับยาต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีนัดพบแพทย์เพื่อรับยารักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป สปสช.ได้จัดระบบการบริการรองรับในช่วงระหว่างรอการลงทะเบียน เลือกหน่วยบริการใหม่ โดยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแล

 

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถขอเวชระเบียน หรือประวัติการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลเดิม เมื่อจะไปรับยากับหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลแห่งใหม่ ให้แสดงบัตรประชาชนก่อนเข้ารับบริการ พร้อมทั้งนำซองยาไปด้วย และหากมีประวัติการรักษาให้นำไปด้วย และสามารถติดต่อเข้ารับบริการได้ยังสถานพยาบาลได้ ดังต่อไปนี้

 

  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ดูรายชื่อ คลิกที่นี่ หากมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่
  • ผู้ป่วยวัณโรค เข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ดูรายชื่อ คลิกที่นี่ หากมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่
  • ผู้ป่วยจิตเวช เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกเขต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะซับซ้อนของโรค จะถูกส่งต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เข้ารับบริการได้ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิได้ ให้เข้ารับบริการได้ที่คลินิกเวชกรรมได้ทุกแห่ง ส่วนผู้ป่วยไม่สามารถรับบริการปฐมภูมิได้ หากเป็นสิทธิว่างสามารถเข้ารับบริการโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบบัตรทองได้ทุกแห่ง

 

 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า สำหรับในส่วนของผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ขอให้ผู้ป่วยติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานการเข้ารับบริการให้ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องต่อไป

 

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่ง ไปรับการรักษาต่อที่สถานพยาบาลอื่น เช่น อัลตร้าซาวด์ ซีทีสแกน ตรวจ MRI หรือหัตถการอื่น ๆ ยังคงไปรับการรักษาตามนัดได้เหมือนเดิม ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

 

ขณะเดียวกัน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ,โรงพยาบาลประชาพัฒน์ และ โรงพยาบาลบางมด ขอความร่วมมือดูแลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยที่มีนัดรักษาเดิม และผู้ป่วยที่มีเหตุจำเป็นต้องเข้ารักษาไปก่อน โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั้ง 3 โรงพยาบาลนี้ ยังคงไปรับการรักษาได้เหมือนเดิม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน (PCI) สวนหัวใจใส่สเต็นท์ (stent) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 ยังคงรับบริการได้ตามนัดที่ 9 โรงพยาบาลเอกชนเหมือนเดิม เนื่องจากสัญญาบริการฟอกไตและผ่าตัดหัวใจไม่ได้ถูกยกเลิก โรงพยาบาลสามารถให้บริการและขอชดเชยบริการได้ตามปกติ

 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยการเข้ารับบริการของผู้มีสิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาดังกล่าว สามารถเข้ารับบริการได้ทุกแห่งอย่างสะดวก โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สปสช.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกหน่วยแล้ว เพื่อขอความร่วมมืออำนวยความสะดวกในการให้บริการ โดยยังไม่ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ และไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ หน่วยบริการสามารถเบิกได้ได้จาก สปสช. ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

 

 

รายชื่อสถานพยาบาลแต่ละประเภท ที่ผู้มีสิทธิบัตรทอง 9 โรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาสามารถไปใช้บริการได้ เช็ครายชื่อที่นี่

 

รายชื่อโรงพยาบาล 9 แห่งใน กทม. ที่ สปสช.ยกเลิกสัญญา

  1. รพ.มเหสักข์
  2. รพ.บางนา 1
  3. รพ.ประชาพัฒน์
  4. รพ.นวมินทร์
  5. รพ.เพชรเวช
  6. รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2
  7. รพ.แพทย์ปัญญา
  8. รพ.บางมด
  9. รพ.กล้วยน้ำไท

สปสช.แจ้งช่องทางรับยาต่อเนื่องสำหรับ ‘ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 9 รพ.เอกชนถูกยกเลิกสัญญา’

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057