ข่าว

ช็อก ชม "ค้างคาว" ใน โพรงต้นไม้ เจอ เชื้อรา ใน ปอด ป่วย โรคฮีสโตพลาสโมสิส

ช็อก ชม "ค้างคาว" ใน โพรงต้นไม้ เจอ เชื้อรา ใน ปอด ป่วย โรคฮีสโตพลาสโมสิส

04 ต.ค. 2565

หมอมนูญ ยกเคสช็อก นักท่องเที่ยว ชม "ค้างคาว" ใน โพรงต้นไม้ ป่วย โรคฮีสโตพลาสโมสิส หลัง เอกซเรย์ เจอจุดกระจายทั่ว ปอด

หากพูดถึง "ค้างคาว" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียว ที่สามารถบินได้เหมือนนก โดยเฉพาะพบเชื้อไวรัสในค้างคาว มากกว่า 60 ชนิด ซึ่งก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies),ไวรัสอีโบลา (Ebola),ไวรัสซาร์ส (SARS), ไวรัสนิปาห์ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งการดื่มเลือดค้างคาวสด ๆ หรือบริโภคเนื้อ หรือเครื่องในค้างคาว แบบสุก ๆ ดิบ ๆ มีโอกาสเสี่ยงในการติดโรคจากเชื้อไวรัสสูงมาก แต่ล่าสุด พบการเกิดโรคจากการหายใจเอามูลค้างคาว ที่ลอยขึ้นมาในอากาศ เข้าไปในปอด ทำให้ป่วยด้วย "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" (Histoplasmosis) จากการเข้าไปในโพรงต้นไม้

"หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การเดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาวในเวลาเพียง 2-15 นาที จะหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาว ที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด ทำให้ป่วยเป็น "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" (Histoplasmosis)

 

 

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 มีคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติเข้าไปในโพรงต้นไม้ เท่าที่ทราบ 7 ใน 10 คนของคณะนี้ 2-3 สัปดาห์หลังเข้าโพรงต้นไม้ บางคนเริ่มป่วย ไอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เอกซเรย์ปอด 7 คน มีจุดขนาดแตกต่างกันกระจายทั่วปอด ไล่ตั้งแต่คนมีจุดเล็กที่สุดในปอดขนาด 3 มิลลิเมตร ไปถึงคนที่มีลักษณะเป็นก้อน ขนาด 1 เซนติเมตร กระจายทั่วปอด คนที่มีก้อนในปอดพิสูจน์แล้วว่า เป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส ด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากปอด พบเชื้อรา Histoplasma capsulatum เจริญเติบโตแบ่งตัวในปอด

ภาพเอกซเรย์ปอด ภาพเอกซเรย์ปอด
 

"หมอมนูญ" ให้ข้อมูลเรื่องของต้นไม้ที่มีโพรงนี้ ชื่อไทยว่า “ช้าม่วง” เป็นต้นไม้กลุ่มวงศ์ยาง อายุกว่า 100 ปี สูงกว่า 40 เมตร โพรงต้นไม้นี้ เกิดตามธรรมชาติ แคบ เข้าได้ทีละคน ต้องก้มศีรษะเพื่อเข้าในโพรง มีพื้นที่ในโพรงให้คนเข้าไปได้ 6-7 คน ความสูงของโพรง 3 เมตร เป็นที่พักอาศัยของ "ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก" Lesser false vampire bat บริเวณที่ค้างคาวอยู่สูงถึง 5 เมตรจากพื้น 

โพรงต้นไม้ "ช้าม่วง"

"ค้างคาว" ชนิดนี้ อาศัยในถ้ำและโพรงต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในป่าที่สมบูรณ์ โชคดีไม่เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม เพราะต้องให้คนในพื้นที่พาเดินเข้าไป อยู่ในบริเวณคลองวังหีบ หนานตากผ้า ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ค้างคาวแวมไพร์

ทั้งนี้ หมอมนูญ ได้แนะนำให้ติดป้ายเตือนที่หน้าโพรงต้นไม้ต้นนี้ "อันตราย ห้ามเข้าในโพรงต้นไม้ อาจติดเชื้อราจากมูลค้างคาว" และใครที่เคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปหาแพทย์ ขอทำการเอกซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ตัวเองอาจติดเชื้อราที่ก่อโรคฮิสโตพลาสโมซิส คนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ถึงติดเชื้อรา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา

 

โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) คือ โรคปอดชนิดหนึ่ง คล้ายกับโรคปอดบวม เป็นเชื้อราที่ถูกพบในมูลของสัตว์ปีกโดยเฉพาะนก และค้างคาว เมื่อเชื้อนี้ลอยอยู่บนอากาศ จนเผลอสูดดมอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ค่อยพบมากเท่าไหร่ในตัวเมืองมากนัก แต่ก็มีการค้นพบการรายงานว่า เชื้อนี้พบบ่อยในแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย

 

อาการ ของ โรคฮิสโตพลาสโมซิส 

 

สังเกต และเช็กอาการเบื้องต้น เหล่านี้ได้ หลังจากที่ไปยังสถานที่เสี่ยง อาการเจ็บป่วยจะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นในระยะเวลา 10 วัน หลังจากรับเชื้อในมูลนก และค้างคาว

 

  • ไข้หวัด
  • อาการไอแห้ง
  • อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • ปวดเมื่อยตามข้อกระดูก
  • หนาวสั่น

 

อาการ ของ โรคฮิสโตพลาสโมซิส ที่ควรพบแพทย์ทันที

 

  • เหงื่อออกในปริมาณมาก
  • หายใจถี่
  • ไอเป็นเลือด
  • ไข้สูง
  • สมองบวม
  • ปวดศีรษะ
  • การทำงาน หรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ไขสันหลังอักเสบ

 

 

 

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w