"จิตแพทย์" แนะเสพสื่อ "เหตุกราดยิง" แค่รับรู้เหตุการณ์
การเสพสื่อ ข่าวเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู" สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด ส่งผลกระทบต่อ "สุขภาพจิตไม่น้อย" ด้าน "จิตแพทย์" แนะวิธีรับมือกับการเสพสื่อ ไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกระยะยาว
ความรู้สึกหดหู่ สะเทือนใจ มีอารมณ์ร่วม และเสียใจกับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จากเหตุการณ์ "กราดยิงหนองบัวลำภู" หลัง อดีตตำรวจคลั่ง กราดยิง และใช้มีด ก่อเหตุ มีผู้เสียชีวิต 38 ศพ ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง
จนเป็น "โศกนาฏกรรมสังหารหมู่" ครั้งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลายคนคงยังเฝ้าติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผลชัณสูตรศพ ของคนร้าย ที่บอกว่าไม่พบว่าสารเสพติดขณะก่อเหตุ ที่ยังคงค้านกับพยานเเวดล้อม และความรู้สึกของคนในสังคม รวมไปถึงมาตรการลงโทษตำรวจนายนี้ ทำไมหน่วยงานที่สังกัดก่อนหน้า ถึงปล่อยให้บุคคลอันตรายเช่นนี้ออกมาอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ไม่นำไปบำบัด หรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูให้หายก่อน
อีกทั้ง ผู้ก่อเหตุมีประวัติการใช้ปืนและมีพฤติกรรมก้าวร้าว จน ผกก.สภ.นาวัง เคยเรียกมาคุยและยึดอาวุธปืนเพื่อป้องกันการก่อเหตุ และอื่นๆอีกหลายประเด็น
จากข้อสงสัย และผลการก่อเหตุ ที่ผู้รับกรรม ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 2-4 ปี ถึง 24 คน ทำให้หลายคนมีอาการเครียด มีอารมณ์ร่วม จากการเสพข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
บางคนถึงกับเศร้าซึม เพราะจิตตก เนื่องจากมีลูกน้อยในวัยใกล้กัน และมองว่า หลังจากนี้ มาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของเด็กๆจะเป็นอย่างไร รวมถึงหวาดกลัวว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
เพราะผ่านไปยังไม่ถึง 3 ปี เกิดเหตุการณ์กราดยิงไปแล้วถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2563 ผอ.กอล์ฟ ก่อเหตุกราดยิง สาดปืนใส่ผู้บริสุทธิ์ ชิงทอง หลบหนี กลางห้างดังเมืองลพบุรี ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 คน 1 ในนั้น เป็นเด็กชายวัย 2 ขวบ
ถัดมาแค่ 1 เดือน คือ วันที่ 8 ก.พ.63 เกิดเหตุ จ่าทหารคลั่งกราดยิงที่โคราช ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน และล่าสุดก็เหตุการณ์นี้
ในภาวะที่คนในสังคม มีความถอถอยเรื่องสภาวะจิตใจที่กำลังดิ่งลง หลายคนรู้สึกหดหู่ สะเทือนใจ กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น วันนี้ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" ได้สอบถามไปยัง นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ว่าคนในสังคมควรจะมูฟออนจากข่าวนี้อย่างไร
นพ.วรตม์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นความรุนแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจคนไทยมากที่สุด เพราะเหยื่อการสังหารหมู่ ส่วนใหญ่คือเด็กเล็กอายุ 2-4 ปี ที่กำลังนอนหลับอย่างสบายภายในศูนย์เด็กเล็ก ดังนั้นในการเสพข่าวสารจึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชน
-ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงในเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู โดยเฉพาะรูปศพ ผู้บาดเจ็บเพราะไม่จำเป็นในการสื่อสาร อีกทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็น หากมีใครส่งภาพความรุนแรงมาให้ ควรเตือนเขาว่าอย่าส่งต่อภาพเหล่านี้ และลบภาพทิ้ง
-ภายในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีข่าวกราดยิงหนองบัวลำภูออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเสพข่าวนี้บ่อยๆ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว แนะนำว่าควรลดการเสพข่าวนี้ลงเหลือเพียงแค่ 1-2 ข่าวต่อวัน หรือเพื่อแค่รับรนู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น
-ดูแลคนรอบตัวหรือคนในครอบครัวที่เสพข่าวกราดยิงหนองบัวลำภู ไม่ให้อ่านข่าวนี้มากจนเกินไปเพราะจะกระทบต่อจิตใจได้ หากว่าคนใกล้ตัวหรือตนเองรู้สึกจิตตกจากการติดตามข่าวนี้ควรลดปริมาณลง
-เน้นย้ำกลุ่มเปราะบางที่ไม่ควรเสพข่าวนี้บ่อย คือกลุ่มคนตั้งครรภ์ และพ่อแม่ที่มีลูกเล็กวัยใกล้กับผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนตั้งครรภ์ เพราะความกังวลจะส่งผลต่อเองและลูกในท้อง หากมีความเครียดควรหาทางออกด้วยการพูดคุยกับบุคคลอื่น อย่าอยู่ลำพัง หรือดีที่สุดก็ไม่ต้องเสพข่าวนี้ต่อไป เพราะถือว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นไปเเล้ว
ส่วนอีกหนึ่งอาชีพที่มีความเครียดไม่แพ้กัน นั่นก็คือสื่อมวลชน
โดย นพ.วรตม์ กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวคืออีกกลุ่มที่กังวลใจ และถือว่าผู้สื่อข่าวเอง ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉนั้นต้องดูแลสภาพจิตใจของตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่ไหว หดหู่ ให้พูดคุยกับคนรอบข้าง พูดคุยกับ บ.ก. อาจให้ต้องสลับคน มีการเปลี่ยนเวร ผลัดเวรกัน
แต่ในทางกลับกัน สื่อมวลชนเอง ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีพลังเยียวยาสภาพจิตใจของคนในสังคม อยากให้นำเสนอข่าวในรูปแบบของการให้ความสำคัญกับการจัดการความรุนแรง การดูแลจิตใจกันเอง ช่องทางการช่วยเหลือ ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือคนได้มหาศาล เพราะฉนั้นในการนำเสนอข่าว อยู่ที่สื่อเลือกว่าอยากให้ตัวเองเป็นอะไรในสังคม
สำหรับแนวทางป้องกันการก่อเหตุในมุมของโฆษกกรมสุขภาพจิตนั้น นพ.วรตม์ มองว่าควรป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ หากพบเห็นความรุนแรงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา หรือการกระทำที่รุนแรงต่อบุคคลอื่น เราไม่ควรมองข้ามและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ควรให้การช่วยเหลือและให้ความใส่ใจผู้ที่ได้รับความรุนแรงให้มากขึ้นเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต
นอกจากนี้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ แนะผู้ปกครอง หมั่นดูแลผลกระทบสภาพจิตใจและอารมณ์ของบุตรหลานจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้สื่อด้วยความระมัดระวัง
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่ปรากฏส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของผู้ปกครองและบุตรหลาน ซึ่งมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อใน ทุกช่วงเวลาอย่างมากมาย อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของบุตรหลาน กิจกรรมส่วนใหญ่คือการดูโทรทัศน์ หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลาน ได้รับผลกระทบทางด้านอารมณ์และจิตใจจากเหตุการณ์นี้ กรมการแพทย์ มีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน คือการใช้สื่อของเด็ก ควรจำกัดเวลาในการเข้าถึงสื่อต่างๆ เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำกัด ไม่มากหรือวนเวียนแต่สิ่งที่ทำให้หดหู่ใจ หากเด็กต้องเข้าถึงสื่อ ควรมีผู้ปกครองดูอยู่ด้วย เพื่อป้องกันการเห็นภาพหรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือสร้าง ความสะเทือนใจแก่เด็ก ในเด็กโตที่เล่น Social media ผู้ปกครองควรแนะนำเรื่องการใช้ Social media อย่างเหมาะสม เช่น หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง การวิพากษ์วิจารณ์ข่าวผ่าน Social media โดยสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น การให้กำลังใจผ่าน Social media การส่งต่อความช่วยเหลือ เป็นต้น
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติม ถึงวิธีการดูแลบุตรหลานนอกจากดูแลเรื่องการใช้สื่อแล้วควรให้
1.เด็กมีกิจกรรมช่วงปิดเทอมที่หลากหลาย นอกจากจะช่วยลดการเข้าถึงสื่อแล้ว ยังสามารถเป็นกิจกรรมที่ช่วยในการผ่อนคลายได้ เช่น วาดรูป ระบายสี เล่นกีฬา เล่นดนตรี ช่วยทำงานบ้าน ดูแลสวน
2.การเฝ้าระวังติดตามอารมณ์ของเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของเด็กในช่วงนี้ ทั้งช่วงที่มีการใช้สื่อและไม่ใช้สื่อ
3.รับฟังแบ่งปันความรู้สึกและวิธีการจัดการอารมณ์ร่วมกัน
4.ผู้ปกครองเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์และการใช้สื่ออย่างเหมาะสม หรือหากผู้ปกครองหรือเด็กไม่สามารถจัดการอารมณ์เศร้า เสียใจ รู้สึกผิดที่เกิดขึ้นได้ สามารถติดต่อรับการปรึกษาช่วยเหลือจากคลินิกจิตเวชใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
"โศกนาฏกรรมสังหารหมู่" กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก ที่หนองบัวลำภู ถือเป็นการก่อเหตุที่ร้ายแรงและสะเทือนขวัญคนไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนสภาพสังคม ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งภายในองค์กรตำรวจ ที่พบว่า ล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาให้สังคมได้ แต่กลายเป็นผลักดันเอาคนไม่ดีออกจากองค์กร โดยที่ไม่จัดการสานต่อเพื่อบำบัดหรือรักษาในเรื่องยาเสพติด กลับปล่อยตัวออกมาให้อยู่ร่วมกับสังคม ทั้งที่รู้ว่าบุคคลนี้คือบุคอันตราย จากประวัติที่เคยก่อเมื่อครั้งรับราชการ
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่มีบทเรียนกองโตจากการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ นั่นก็คือการครอบครองอาวุธปืน จากนี้ไปคงต้องสแกนผู้ครอบครอง โดยเฉพาะข้าราชการอาจต้องมีการตรวจสุขภาพจิต ประวัติการก่ออาชญากรรม ก่อนได้รับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน
เพราะในต่างประเทศ อย่างอังกฤษ ตำรวจในกรุงลอนดอนและเกือบทุกแห่งในยูเค ยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอาวุธปืนประจำตัว มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่อยู่ในข้อยกเว้น เพราะต้องรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยงอันตราย อย่าง สนามบิน และสถานทูตต่างชาติ
หากจะพูดจะว่า ขอให้เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ก็จะกระดากปากไม่น้อย เพราะสังคมเคยพูดมาแล้ว ตั้งแต่ เหตุการดยิงที่ลพบุรี ปี 2563 จากน้ำมือ ผอ.กอล์ฟ แต่บทเรียนนี้ก็กลับมาอีกเพียงแค่ 1 เดือน ในปีเดียวกัน นั้นก็คือจ่าทหารคลั่งกราดยิงที่โคราช จนมีผู้เสียชีวิต 31 คน คนไทยไว้ใจได้ไม่นานไม่ถึง 2 ปี บทเรียนนี้ก็วนมาอีกหมือนเดิม ได้แต่ตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะเอาจริง ให้บทเรียนนี้จบหลักสูตร ในเหตุการณ์ "โศกนาฏกรรมสังหารหมู่ กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองลำภู "
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/