"ดอยคำ" นำเยาวชน สร้างฝาย ปลูกจิตสำนึก ทำประโยชน์ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
"ดอยคำ" จัดกิจกรรม "เยาวชนหัวใจดอยคำ" สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม นำเยาวชนร่วมสร้างฝายต้นน้ำชุมชนบ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สร้างจิตสำนึกนักจิตอาสา ทำประโยชน์ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสาเพื่อสังคมของ เยาวชน ไทยให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละต่อสังคม และการมีจิตสาธารณะ
โดยล่าสุดจัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจ ดอยคำ” ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการนำเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาร่วมทำ “ฝายต้นน้ำชุมชนบ้านยาง” อันเป็นไปตามนโยบายการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เยาวชนที่มีหัวใจจิตอาสา ทำกิจกรรมเพื่อสังคม และส่วนรวม ไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ราย โดยมอบหนังสือรับรองการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ให้เป็นการตอบแทนในความเสียสละต่อส่วนรวมต่อไป
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า การทำฝายทุกครั้งจะมีชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ ดอยคำ เป็นกำลังหลัก ทำหน้าที่ปลูกฝังจิตอาสาให้กับ เยาวชน ซึ่งแต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 30 ราย สำหรับปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมทำ ฝาย รวม 22 ราย แบ่งเป็นเยาวชนพื้นที่ 18 ราย จาก 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนรัตนเอื้อวิทยา, โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์1, โรงเรียนฝางอุปถัมภ์,โรงเรียนรังษีวิทยา และโรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพฝาง ร่วมด้วยเยาวชนจิตอาสา จากกรุงเทพฯ จำนวน 4 ราย โดยนักเรียนทุกคนที่ร่วมกิจกรรมทำฝายต้นน้ำชุมชนบ้านยาง จะได้รับหนังสือรับรองการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม เป็นการตอบแทนในความเสียสละต่อส่วนรวม
“เยาวชน ที่มาร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้การทำ ฝาย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ชุมชน สำหรับฝาย ดอยคำ เป็น ฝายชะลอน้ำ ประเภทชั่วคราว ทำจากไม้ไผ่ ลักษณะเหมือนฝายคอกหมูแต่มี 3 ชั้น ใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน ตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำโดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ แม้ว่าไม้ไผ่จะผุพังไปแล้ว มีอายุการใช้งาน 1-2 ปี ไม่ทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว
ภายหลังจากออกแรงช่วยทำ ฝาย ตัวแทนเยาวชนจิตอาสาอย่าง ด.ญ.ลลิตา ชัยสุขศรีส่องฟ้า นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า แม้จะพอทราบมาบ้างถึงประโยชน์ของฝายว่านอกจากช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้นและแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่อีกด้วย สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ถึงจะแดดร้อนไปบ้างแต่รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะได้ลงมือทำจริง ขณะเดียวกันกิจกรรมนี้ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่จากกรุงเทพฯ อีกหลายคนด้วย
ด้าน ด.ญ.จิรภัทร์ สมบัติรัตนากร เผยประสบการณ์อันน่าประทับใจหลังจากได้ร่วมทำฝายดอยคำครั้งนี้ ด้วยการทำหน้าที่ช่วยลำเลียงไม้ไผ่ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการสร้างฝาย รวมถึงช่วยปลูกหญ้าแฝก ว่า แม้จะเติบโตในพื้นที่ แต่เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมทำฝายชะลอน้ำ นอกจากความสนุกแล้วยังรู้สึกภูมิใจด้วย เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งที่จะมาช่วยป้องกันในกรณีที่ฝนตกหนัก ฝายจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลตรงไปในหมู่บ้าน ซี่งจะทำให้น้ำท่วม หรือทำลายพื้นที่การเกษตร
ด้าน ตัวแทนเยาวชนจิตอาสาจากกรุงเทพฯ “นิวส์” นางสาวชนกนันท์ พรดิลกรัตน์ เล่าว่าที่ผ่านมาเคยร่วมกิจกรรมต่างๆ กับโรงเรียนมาบ้าง ส่วนการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดีมาก อย่างแรกคือได้ลงมือทำจริงๆ ถึงจะเหนื่อย ร้อน แต่สนุกต่อมาคือได้ความรู้เกี่ยวกับฝายมากขึ้น และสุดท้ายคือได้รู้จักเพื่อนๆ ที่มาจากต่างโรงเรียน
ปิดท้ายเยาวชนจิตอาสารุ่นจิ๋ว วัย 9 ปี “น้องพิณแพง” ด.ญ.ศินาถ สารภิรมย์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า วันนี้ได้ตอกไม้ไผ่เผื่อทำฝาย โดยมีพี่ๆ จิตอาสามาช่วยสอน และได้ลำเรียงหญ้าแฝกเพื่อมาทำเป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดิน แม้ว่าอากาศจะค่อนข้างร้อน แต่ก็สนุกชอบที่ได้มาช่วยกัน และได้รู้จักกับพี่ๆ หลายคน
ทั้งนี้ การทำกิจกรรมจิตอาสาดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 รวมระยะเวลาดำเนินการกว่า 14 ปี สร้าง ฝายชะลอน้ำ ช่วยชาวบ้านในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1,500 - 2,000 ฝาย อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้าง ฝาย ชะลอน้ำกับ ดอยคำ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ป๊อด” นายศรายุทธ ปัญญาเลิศ เจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ โทร.084-9509769
ติดตาม คมชัดลึก คลิก
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w