ข่าว

ลุ้น อุบลฯ "เซินกา" ถล่ม เช็ครุนแรง พายุโซนร้อน อ่อนลงเป็น ดีเปรสชัน

ลุ้น อุบลฯ "เซินกา" ถล่ม เช็ครุนแรง พายุโซนร้อน อ่อนลงเป็น ดีเปรสชัน

15 ต.ค. 2565

จับตา พายุ "เซินกา" ประชิดไทยทุกวินาที ขึ้นฝั่งแล้วจะเปลี่ยนจาก พายุโซนร้อน อ่อนกำลังลงเป็น พายุดีเปรสชัน ทำอีสานอ่วมซ้ำเกิดฝนตกหนัก ฝนตกสะสม ลมแรง เช็คระดับความรุนแรงของพายุ

ความเสียหายจาก พายุโนรู ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีมีน้ำท่วมหลายพื้นที่ความเดือดร้อนที่เกิดจากพายุลูกเก่ายังไม่หมดไป พายุลูกใหม่ อย่าง พายุ "เซินกา" ก็จะกำลังจะเข้ามาโมตีบริเวณพื้นที่ภาคอีสานอีกครั้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยา มีการคาดการณ์ว่า พายุ "เซินกา" จะส่งผลกระทบทำให้ 12 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน เกิดฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อีกครั้งในระยะนี้ แต่ครั้งนี้อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับ พายุโนรู เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า พายุ "เซินกา" จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วกลายเป็น พายุดีเปรสชัน 

กรมอุตุฯ ระบุว่า พายุโซนร้อน "เซินกา" (SONCA) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 109 กิโลเมตร ทางตะวันออกของแขวงเซกอง ประเทศลาว หรือที่ละติจูด 15.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพายุนี้มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น

พายุเซินกา

โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 

 

  • ความรุนแรง และความแตกต่างของ พายุโซนร้อน และ พายุดีเปรสชัน 

พายุโซนร้อน (Tropical Storm) คือ พายุที่ก่อตัวขึ้นเหนือน่านน้ำทะเลในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 64 ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 กิโลเมตร เป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ระยะกลางที่มีกำลังมากกว่าพายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) 

 

พายุโซนร้อน จะก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส เป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก มีรูปทรงของพายุหมุน แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่ก่อให้เกิดตาพายุที่ชัดเจนเหมือนพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน  ความรุนแรงของ พายุโซนร้อนนั้นขึ้นอยู่กับความร้อนและความชื้นในอากาศเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร   ดังนั้น เมื่อพายุโซนร้อนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งจึงมักอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด 

 

สำหรับประเทศไทย โอกาสพบ พายุโซนร้อน เป็นไปได้ยาก เนื่องจากพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย มักจะอ่อนกำลังลง กลายเป็นเพียงพายุดีเปรสชัน หลังจากเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย


พายุดีเปรสชัน (Depression Storm) คือ พายุหมุนเขตร้อนประเภทหนึ่งที่มีความเร็วที่จุดศูนย์กลางไม่สูงมากนัก ความเร็วลมไม่เกิน 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอำนาจการทำลายล้างไม่สูงมากนัก โดยมีความเร็วน้อยกว่าพายุโซนร้อน ซึ่งมีความเร็วลมตั้งแต่ 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพายุดีเปรสชันนั้นเป็นพายุหรือพายุฝนที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด เป็นพายุที่มีกำลังอ่อนที่สุดในหากเทียบกับ พายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น และ พายุเฮอร์ริเคน   แต่ พายุดีเปรสชั่น สามารถทำให้เกิดฝนตกหนักในระดับ 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง และสามารถตกติดต่อกันได้หลายวัน ดังนั้นเมื่อพายุพัดผ่านไปแล้วมักจะพบน้ำท่วม  แต่เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็มักจะสลายตัวได้ภายใน 1 สัปดาห์

 

ข้อมูล : มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w