จุฬาฯ จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565" ระดมทุน-ระดมเลือด ช่วยสังคม ยาม วิกฤต
สมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนคนไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย พร้อมชวนคนรุ่นใหม่บริจาคเลือด "เติม ‘เลือดใหม่’ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด" ผ่าน Line OA “เลือดใหม่”
วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี สมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จะมีการจัดกิจกรรมสำคัญ ปีนี้ก็เช่นกัน โดยวันก่อน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมฯ ได้จัดแถลงข่าวการจัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565" เชิญคนไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย พร้อมชวนคนรุ่นใหม่บริจาคเลือด “เติม ‘เลือดใหม่’ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” ผ่าน Line OA “เลือดใหม่” ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กว่า 100 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ยังเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางรากฐานสำคัญด้านการสร้างผู้นำแห่งอนาคต ด้านงานวิจัย พร้อมนวัตกรรม ที่นำไปใช้ได้จริง สร้างอิมแพคต่อสังคม ควบคู่ไปกับความยั่งยืน โดย 2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นวัตกรรมของเราได้ช่วยเหลือคนเป็นจำนวนมาก เช่น รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก เป็นต้น
ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสในการระดมกำลังช่วยเหลือสังคม เช่น โครงการข้าวแสนกล่อง กล่องรอดตาย ที่นอกจากบรรจุอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิดแล้ว บนกล่องมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่อติดต่อขอรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยเรามีนิสิตผู้รู้มาช่วยตอบคำถามเป็นเหมือนเวอร์ชวล วอร์ด
“วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ชาว จุฬาฯ ถือเป็นโอกาสอันดีในการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราช เราตั้งสมาคมฯ เพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น การจัดตั้ง “กองทุนจุฬาสงเคราะห์” เพื่อช่วยเหลือนิสิตที่อาจมีปัญหาด้านค่าครองชีพ ค่าเทอม ตลอดจนค่าอุปกรณ์การศึกษา รวมไปถึงเบี้ยเลี้ยง โดยเป็นทุนที่ให้การช่วยเหลือตลอดจนจบการศึกษา 4 ปี ซึ่งทุกวันนี้มี 45 คนที่ขอรับทุนอยู่ และยังมี “ทุนอาหารกลางวัน” โดยมีผู้ขอรับทุนเกือบ 500 คน จากเดิมขอรับทุนเพียง 300 คน”
ขณะที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 กล่าวเสริมว่า งานปิยมหาราชานุสรณ์เป็นกิจกรรมที่สำคัญของชาว จุฬาฯ เชิญชวนทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมกันทำความดี โดยในช่วงเช้าของวันที่ 23 ตุลาคม จะมีการวางพวงมาลาถวายราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล และลานหน้าพระราชวังดุสิต
“ที่พิเศษคือ ปีนี้มีการจัดงานกาล่าดินเนอร์ “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 : The Charity Gala Night” ที่ศาลาพระเกี้ยวกับคอนเสิร์ตการกุศล ภายใต้บรรยากาศที่เป็นการย้อนไปในอดีตเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน โดยมีนักร้องและศิลปินนิสิตเก่าจุฬาฯ ชื่อดังมากมาย นำโดย รัดเกล้า อามระดิษ, วสุ แสงสิงแก้ว, รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ, กิตตินันท์ ชินสำราญ ฯลฯ โดยรายได้สมทบกองทุนจุฬาสงเคราะห์ และเชิญชวนร่วมกันบริจาคในแคมเปญ Less is More”
อีกภารกิจสำคัญไม่แพ้กันคือ การเชิญชวนทำความดีด้วยการบริจาคโลหิต โครงการ “เติม ‘เลือดใหม่’ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” เพื่อหาเลือดให้ได้เพียงพอและอย่างยั่งยืนจึงนำดิจิทัล แพลตฟอร์ม เข้ามาช่วย ผ่านทาง Line OA “เลือดใหม่” นอกจากช่วยศูนย์บริการโลหิตแล้ว นิสิตจะเข้าใจถึงเกียรติภูมิของจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ ช่วยเหลือ ประชาชน
ทั้งนี้ ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดการโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อธิบายถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า อัตราการใช้เลือดทั่วประเทศต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 ยูนิต ซึ่งตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เราประสบกับปัญหาการขาดแคลนเลือด ปีละ 400,000 – 500,000 ยูนิต แม้การบริจาคเลือดจะสามารถทำได้ทุกๆ 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง แต่จากสถิติการบริจาค 1,000,000 คนจะบริจาค ปีละ 1 ครั้ง และมีผู้บริจาคเลือดเพียง 60,000 คนที่จะบริจาค ปีละ 4 ครั้ง ทำให้เลือดที่ได้มายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการบริจาคของเราคือ นิสิตนักศึกษา จึงอยากเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่หันมาบริจาคเลือดกันให้มากขึ้น มาร่วมกันชุบชีวิต เป็นการสร้างบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่
สำหรับกิจกรรมในงาน ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 และกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมดได้ทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni และสามารถร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่าน 5 ช่องทาง
(1) สแกน QR Code เข้าสู่เว็บบริจาค www.chula-alumni.com/donation
(2) App CHAM
(3) LINE OA “CHULA ALUMNI” เลือกเมนู “บริจาค”
(4) K Plus ที่ฟีเจอร์ K Plus Market เลือกเมนูบริจาค และTTB ให้เข้าไปที่ “ปันบุญ”
(5) บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-62388-9 ชื่อบัญชี “สมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ติดตาม คมชัดลึก คลิก
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w