"นักวิชาการ" คาด บอร์ดบริหาร ทรู-ดีแทค นั่งไม่ติด แม้มติควบรวมธุรกิจได้
"นักวิชาการ" ชี้ หลัง กสทช. ไฟเขียวรวมทรูดีแทค ส่งผลอ่วม เงื่อนไขเข้ม แยกแบรนด์3ปี พร้อมมาตรการคุมราคาเพียบ มองเอื้อประโยชน์ให้คู่แข่งรายใหญ่สร้างแคมเปญทางการตลาด ช่วงชิงลูกค้าของ 2 ค่าย
จากกรณีการควบรวมทรูดีแทค ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติรับทราบการควบรวมตามประกาศปี 61 พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภค เช่น
- ออกมาตรการห้ามทั้งสองค่ายรวมแบรนด์เข้าด้วยกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่คงทางเลือกของผู้บริโภคให้มีเวลาตัดสินใจ และทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเห็นผลกระทบของการควบรวมธุรกิจและมีข้อมูลในการตัดสินใจใช้บริการต่อไป - มาตรการ "การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน" ที่กำหนดให้ทั้งสองค่าย เปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ได้เช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมที่ทั้งสองมีอยู่ และต้องห้ามปฎิเสธการเช่าใช้บริการ
- จัดหน่วยธุรกิจเฉพาะเพื่อให้บริการ MVNO โดยตรง ซึ่งต้องให้บริการได้ทันทีหลังรวมธุรกิจ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ MVNO รายเล็กในตลาด มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นทางเลือกมากขึ้นให้กับผู้บริโภค
- เพดานราคาที่กำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย และการกำหนดราคาค่าบริการโดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์
- ต้องส่งโครงสร้างราคาค่าเฉลี่ยให้กสทช.รับทราบทุก 3 เดือน
- บังคับรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาที่กสทช.จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเรื่องโครงสร้างต้นทุน
รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นกรณีนี้ มองว่า เป็นมาตรการที่เข้มข้นและมีรายละเอียดที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่น่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งสองค่ายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมาตรการห้ามควบรวมแบรนด์เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจหลักของการตัดสินใจรวมธุรกิจครั้งนี้ เพราะทำให้ส่งผลกระทบต่อแผนการทำการตลาด การบริหารต้นทุน และการเสียโอกาสในการนำจุดแข็งของทั้งสองค่ายมารวมกัน ยังกระทบต่อกรอบเวลาการควบรวมธุรกิจที่จะต้องขยายออกไปถึง 3 ปี และที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์ให้คู่แข่งรายใหญ่ใช้ความได้เปรียบนี้สร้างแคมเปญทางการตลาดเพื่อช่วงชิงลูกค้าของทั้งสองค่ายไปได้อีกนานเช่นกัน
ส่วนมาตรการเรื่องผู้ให้บริการMVNO นั้น มองว่า ยังกระทบกับแผนธุรกิจของทั้งสองบริษัท ซึ่งสวนทางกับแนวทางการควบรวมธุรกิจ ที่โครงสร้างองค์กรควรจะกระชับและคล่องตัวมากขึ้น แต่กลับต้องขยายเพิ่มหน่วยธุรกิจขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนหรือ MVNO และเป็นมาตราการบังคับที่ห้ามปฎิเสธการให้บริการ รวมทั้งต้องพร้อมให้บริการทันทีที่การควบรวมเกิดขึ้น และยังต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาที่กสทช.จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเรื่องโครงสร้างต้นทุนของบริษัทใหม่อีกด้วย
จากมติของกสทช.ครั้งนี้ ฝ่ายบริหารทั้งทรูและดีแทคน่าจะต้องมีการประชุมเพื่อปรับแผนธุรกิจกันใหม่ครั้งใหญ่ เพราะกระทบทั้งเรื่องโครงสร้างการบริหาร และต้นทุนการตลาดที่ต่างฝ่ายต้องแบกรับภาระต่อไป ตลอดจนแผนการตลาดที่ต้องคลาดเคลื่อนจากที่กำหนดไว้ ซึ่งระยะเวลา 3 ปีที่ห้ามรวมแบรนด์นี้นับเป็นการเสียโอกาสทางการตลาด และทำให้พลาดการขึ้นเป็นผู้นำตลาดทันทีหลังควบรวม
ติดตาม คมชัดลึก ได้ที่
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w