รับส่งต่อคนไข้จาก "รพ.นพรัตน" แก้ปัญหาคนไข้ล้น กรณียกเลิกสิทธิ บัตรทอง
รับส่งต่อคนไข้ จาก "รพ.นพรัตน" รพ.สังกัด กทม.และ รพ.เอกชน 1 แห่ง รับไม้ต่อแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้าง จากกรณียกเลิกสัญญา บัตรทอง
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้างใน "รพ.นพรัตน" จากกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ที่ผ่านมา สปสช. ได้เร่งประสานความร่วมมือเพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีทั้งจากกรุงเทพมหานคร และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยบริการในภาคเอกชน ซึ่งในส่วนผู้ป่วยเร่งด่วนที่ต้องรักษาต่อเนื่องนั้น สปสช. ได้ดำเนินการจัดหาหน่วยบริการเพื่อรับส่งต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้มี สิทธิบัตรทอง ในพื้นที่ซึ่งได้รบผลกระทบ สปสช. เปิดให้ประชาชนเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการเอง โดยขณะนี้มีประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแล้ว 28,946 คน
ทั้งนี้ ด้วยหน่วยบริการบางเขตพื้นที่ใน กทม. ที่มีจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งด้านตะวันออก ทำให้เกิดปัญหาการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะ "รพ.นพรัตน" ที่ผ่านมา สปสช.ได้เร่งประสานไปยังสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ให้ รพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สำรองเตียงเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยจาก "รพ.นพรัตน" แล้ว รวมทั้งได้ประสานกับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ ซึ่งจะมาช่วยรองรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย โดยจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยมาจาก "รพ.นพรัตน" โดยตรง
นอกจากนี้ สปสช.ยังอยู่ระหว่างการประสานไปยัง รพ.เอกชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงเพิ่มเติมให้เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย และในวันนี้ (1 พ.ย. 65) ทาง สปสช.ได้ประชุมหารือร่วมกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหานี้
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้มีสิทธิ บัตรทอง ในโซนกรุงเทพตะวันออกเข้าถึงบริการนั้น จำเป็นต้องดำเนินการภาพรวมทั้งหมด ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ประกอบด้วยเขตคลองสามวา บางกะปิ สะพานสูง หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง บึงกุ่ม ประเวศ และคันนายาว มีประชากรทุกสิทธิรักษาพยาบาล 1,463,369 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง 777,453 คน ซึ่งในระบบบัตรทองมีหน่วยบริการรองรับบริการดังนี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นและหน่วยบริการปฐมภูมิภาครัฐ 64 แห่ง คลินิกเวชกรรม จำนวน 19 แห่ง และโรงพยาบาลรับส่งต่อ 4 แห่ง ได้แก่ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์, รพ.ลาดกระบัง, รพ.สิรินธร และ "รพ.นพรัตน"
การดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ด้วยโรงพยาบาลรองรับในพื้นที่ซึ่งมีจำกัด จำเป็นต้องวางระบบกระจายบริการระดับปฐมภูมิ พร้อมจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มเติมรองรับ โดยขณะนี้มีหน่วยบริการปฐมภูมิอยู่ระหว่างการสมัคร 5 แห่ง นอกจากนี้มีร้านยาที่ สปสช. ร่วมกับสภาเภสัชกรรมเข้ามาเสริมการบริการอีกจำนวน 103 แห่ง อย่างไรก็เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. อย่างเป็นระบบ สปสช. จะนำข้อมูลทั้งหมดมาหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อกระจายบริการปฐมภูมิรองรับดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการ