ถอดบทเรียน โศกนาฏกรรม "อิแทวอน" ความหนาแน่น เกิน 5 คน/ตรม. จุดจบ เบียดกันตาย
ถอดบทเรียน โศกนาฏกรรม "อิแทวอน" เมื่อ ความหนาแน่น เกิน 5 คน/ตารางเมตร กลายเป็นฝันร้าย ข้ามคืน จุดจบ เบียดกันตาย
โศกนาฏกรรม "อิแทวอน" ย่านท่องเที่ยวบันเทิงชื่อดัง ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน จากการที่นักท่องเที่ยว แห่แหนกันไปเฉลิมฉลอง เทศกาลฮาโลวีน เบียดอัดกันในตรอกแคบ ๆ จนล้มทับกัน เป็นโดมิโน และมีคนเสียชีวิต เนื่องจากปอดถูกกดทับ ไม่สามารถหายใจได้ กลายเป็นฝันร้าย ภายในข้ามคืน และนับถอยหลังคืนเคาท์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2023 ที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2 เดือน บทเรียนจาก อิแทวอน สะท้อนอะไรได้บ้าง
"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การที่ฝูงชนจำนวนมาก ไปเบียดอัดกันแน่นในพื้นที่แคบ จนเกิดอุบัติเหตุ หายใจไม่ได้ ที่เรียกว่า คราวด์ครัช crowd crush นั้น (ลักษณะคล้ายกรณีเหตุการณ์ที่ตากใบ ที่ผู้ชุมนุมถูกนำตัวไปกองทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก จนหายใจไม่ได้ เสียชีวิต) จะต่างไปจาก สแตมป์พีด stampede ซึ่งเป็นการที่ฝูงชนเกิดการตกใจ และวิ่งหนีจนเหยียบกันตาย ดังนั้น เหตุที่อิแทวอนถ้าให้เข้าใจถูกต้อง ควรเรียกว่า "เบียดกันตาย" มากกว่า "เหยียบกันตาย"
จากบทเรียนครั้งนี้ สะท้อน การละเลยเรื่องความหนาแน่นของจำนวนคนต่อพื้นที่ นี่คือสาเหตุใหญ่ของโศกนาฎกรรม crowd crush ดังเช่นที่อิแทวอน และที่อื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยเราก็ควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดได้กับกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะงานเทศกาล งานวัฒนธรรม ศาสนาประเพณี ดนตรี เซลล์ขายของ ฯลฯ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่แคบ (ทำให้ความหนาแน่น สูงเกินไป) ซึ่งจุดสังเกต เวลาที่ไปร่วมงานที่มีคนจำนวนมาก ภาวะที่เป็น crowd crush เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเริ่มรู้สึกได้ว่า มีแรงจากคนรอบข้างเบียดเสียดรอบตัว จนเริ่มไม่สามารถขยับตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ เริ่มไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวเองได้ แต่เริ่ม "ไหล" ไปตามแรงของฝูงคน เหมือนเราไม่ได้เป็น "ตัวเอง" อีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของ "กลุ่ม" ที่เป็นเนื้อเดียวกัน และนั่นคือสัญญาณที่สื่อว่า เราอาจจะตกอยู่ในอันตรายของ "การเบียดกันตาย" ได้ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
ข้อมูล wikipedia ระบุว่า โดยปกติแล้ว ขนาดตัวของคนเราจะใช้พื้นที่ ประมาณ 30 เซนติเมตร คูณ 60 เซนติเมตร หรือเท่ากับ 0.18 ตารางเมตร นั่นแปลว่า ถ้ามีคนอยู่ในบริเวณนั้นประมาณ 1-2 คนต่อตารางเมตร แม้ว่าจะมีคนเยอะล้นหลามแค่ไหนก็ตาม ผู้คนก็ยังสามารถเคลื่อนที่ได้โดยอิสระ โดยไม่ชนกัน แม้ว่าจะเดินไปมาอย่างรวดเร็ว ก็ยังสามารถเคลื่อนที่ได้ โดยไม่มีคนอื่นเป็นสิ่งกีดขวาง ถ้าความหนาแน่นของจำนวนคนต่อพื้นที่ เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 คนต่อตารางเมตร ความเสี่ยงในการเบียดกัน ก็ยังต่ำอยู่ดี แต่ถ้าความหนาแน่น เพิ่มขึ้นเป็น 5 คนต่อตารางเมตร การขยับเคลื่อนที่ของแต่ละคน จะลำบากขึ้น แต่ถ้าเมื่อใด ความหนาแน่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 คนต่อตารางเมตร อันตรายก็อาจจะเกิดขึ้นได้ นั่นคือ ถ้ามีคนหนาแน่นถึง 6-7 คนต่อตารางเมตร คนแต่ละคนจะเบียดอัดกับคนอื่น และไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ด้วยตัวเองอีกต่อไป ฝูงชนจะกลายเป็นเหมือน "ของเหลว" ที่ไหลไปมา ตามแรงดันของผู้คนที่อยู่รอบตัว และสามารถส่งผ่านแรงดันในแบบของ "คลื่นกระแทก shockwave" ไปตามกระแสของผู้คนที่ไหลไปด้วย ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการหกล้มขึ้น มีคนล้มทับกัน เบียดกันแน่น จะเกิดภาวะ "หายใจไม่ออก" ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต
หนึ่งในตัวอย่างของปัญหาความหนาแน่นของคนที่มาร่วมงานนั้น คือการร่วมแสวงบุญในพิธีฮัจน์ (Hajj) ซึ่งมีผู้คนมากถึง 7-8 คนต่อตารางเมตร และทำให้เกิดอุบัติเหตุ crowd crash ขึ้นแล้วหลายครั้ง ว่ากันว่า ในเหตุการณ์สลดที่อิแทวอนนี้ มีความหนาแน่นของผู้ร่วมงานถึง 8-10 คนต่อตารางเมตรเลยทีเดียว
ดังนั้น การถอดบทเรียนสำคัญ ที่ได้จากโศกนาฎกรรม อิแทวอน (และที่อื่น ๆ) คือ การที่ต้องพยายามควบคุมงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีผู้เข้าร่วม "ไม่ให้มีความหนาแน่นเกิน 5 คนต่อตารางเมตร" ไม่ว่าจะด้วยวิธีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม (เช่น ขายบัตร หรือล็อคจำนวนคน) หรือการเพิ่มขนาดพื้นที่ ให้กว้างขวางมากขึ้น เพียงพอรับกับผู้คนที่มาร่วมงานได้ รวมไปถึงแนวทางในการวางเส้นทางเดินย่อย ๆ ให้ระบายผู้คนออกไปทางอื่นได้ เมื่อมีความหนาแน่นสูงขึ้นเข้าใกล้จุดวิกฤต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ที่ทำให้กลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน
ข้อมูลจาก www.safeandtrained.com
ขอบคุณ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057