ข่าว

"นักวิชาการ" ค้าน ถลุงเงิน 1,600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก2022"

"นักวิชาการ" ค้าน ถลุงเงิน 1,600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก2022"

08 พ.ย. 2565

"นักวิชาการ" คัดค้าน ใช้งบ กสทช. 1,600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก2022" ถามคุ้มค่าหรือไม่ หากดี ทำไมเอกชนไม่มีใครเสนอตัว

หลังจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ได้ของบสนับสนุน ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอด "ฟุตบอลโลก2022" จาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ  กสทช. 

 

วันนี้ 8 พ.ย. ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อ ร่วมลงนามคัดค้านการนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. จำนวน 1,600 ล้านบาท ไปใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดการแข่งขัน "ฟุตบอลโลก2022" 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย พิจารณาแนวทางร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เจรจากับองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาจรวมถึงการพิจารณาเรื่องของกฎ "Must Have" และ "Must Carry"  ว่าจะมีข้อยกเว้นอย่างไรได้บ้าง

นอกจากนี้ เรียกร้องให้กสทช.และ กทปส.ออกมาแสดงถึงสถานะการเงินล่าสุด และต้องมีการพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ โดยมองว่า การนำเงินก้อนนี้ไปสนับสนุนขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน มีโอกาสกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุน เพราะการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารประเทศ อาจหยุดชะงัก ขาดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในภาพรวม

 

ส่วนที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า คนไทยจะได้ดู "ฟุตบอลโลก2022" อย่างแน่นอน ถือเป็นการกดดันทางการเมืองเพื่อบีบให้ต้องใช้งบจาก กสทช.หรือไม่ รศ.ดร.ปรีดา ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเห็นผลกระทบเชิงผลประโยชน์ของสังคมมากกว่า

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้ กสทช. ดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญ คือ การเป็นผู้กำกับดูแลการเข้าถึงกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม จึงจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบมองผลประโยชน์ของคนส่วนมากเป็นหลัก และไม่ควรนำเงินหลักพันล้านมาใช้เพียงแค่ 1 เดือนแล้วหายไป เพราะ เงินกองทุน กทปส. ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางในสังคม เช่น กลุ่มผู้พิการ เด็ก คนชายขอบ การนำเงินมาใช้กรณีถือเป็นการนำเงินของกองทุนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

"หาก กสทช. ยืนกรานอนุมัติเงินส่วนนี้ ก็ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดว่าเงินเหลือเท่าไหร่ แผนงานต่อไปมีอะไรบ้าง เอาเงินส่วนนี้มาใช้จะกระทบโครงการใดต้องหยุดชะงักบ้าง และขอตั้งคำถามไปถึงเอกชน หากลงทุนแล้วเกิดการขยายตัวจริง ทำไมภาคเอกชนถึงไม่กล้าลงทุน ฉะนั้นส่วนตัวเลยไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ หนำซ้ำอาจกระทบต่อประชาชนด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ถือเป็นที่จับตาถึงมติ หลายฝ่ายติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้ที่ออกมาคัดค้าน  

 

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057