'บัตรทอง-ประกันสังคม' เปิดข้อแตกต่าง เลือกอย่างไร ไม่ให้เสียเปรียบ
สิทธิ 'บัตรทอง-ประกันสังคม' แตกต่างกันอย่างไร สปสช. เปรียบเทียบผลประโยชน์ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม แบบละเอียด เลือกอย่างไร ไม่ให้เสียเปรียบ
เมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งใช้เงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การวางแผนค่าใช้จ่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากตอนที่ยังทำงานอยู่ ยังสามารถใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของบริษัท แต่เมื่อลาออก หรือเกษียณแล้ว เราจะมีสิทธิใช้สวัสดิการค่ารักษาอะไรบ้าง นอกจากการซื้อประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต
ซึ่งสิทธิที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล มีอยู่ 2 สิทธิ นั่นคือ บัตรทอง-ประกันสังคม แล้วระหว่าง 2 สิทธินี้ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร แต่ละสิทธิมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรกันบ้าง เพราะเชื่อว่า หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. มีคำแนะนำดังนี้
ความแตกต่าง สิทธิ บัตรทอง-ประกันสังคม
- สิทธิบัตรทอง ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำแล้วใช้สิทธิได้ทันที
- สิทธิประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขถึงจะสามารถใช้สิทธิได้
- สิทธิบัตรทอง ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ กรณีเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้
- สิทธิประกันสังคม ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
การย้ายสิทธิ
- สิทธิบัตรทอง การย้ายสิทธิสถานพยาบาลทำได้ 4 ครั้งต่อปี
- สิทธิประกันสังคม การย้ายสิทธิสถานพยาบาลย้ายได้ปีละครั้ง ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.ทุกปี
ค่าห้อง-ค่าอาหาร
- สิทธิบัตรทอง ให้บริการค่าอาหารและค่าห้องสามัญ
- สิทธิประกันสังคม ให้บริการค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 700 บาท / วัน
- สิทธิบัตรทอง ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี ไม่มีเงินชดเชยว่างงานเหมือนประกันสังคม
- สิทธิประกันสังคม ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต
ทำฟัน
- สิทธิประกันสังคม ใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ฟันเทียมได้ทั้งในสถานพยาบาลและคลินิกทันตกรรมที่ร่วมรายการ
- สิทธิบัตรทอง ใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ฟันทียม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม เฉพาะสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น สามารถใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่มีวงเงิน
ใครสามารถลงทะเบียนได้บ้าง
- ประกันสังคม ให้สิทธิกับคนที่เป็นลูกจ้างที่บริษัทได้ส่งเงินสมทบกองทุนให้ โดยที่ไม่ต้องสมัครเอง (ตามมาตรา 33) หรือผู้ที่ลาออกจากงาน อยากสมัครเองก็สามารถทำได้เช่นกัน (ตามมาตรา 39) ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ สามารถลงทะเบียนได้อายุตั้งแต่ 15-60 ปี (ตามมาตรา 40)
- บัตรทอง ให้สิทธิกับคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ใช่บุตรของข้าราชการ หรือไม่มีสวัสดิการอะไรเลย
การรักษาและบริการที่ไม่คุ้มครอง ทั้งสิทธิบัตรทอง-สิทธิประกันสังคม
- การทำศัลยกรรม เพื่อความสวยงาม
- การรักษาที่อยู่ในช่วงทดลอง
- มีบุตรยาก
- ตรวจและรักษาที่เกินความจำเป็น
- เปลี่ยนแปลงเพศ
- ผสมเทียม
- การรักษาโรคเดียวกันโดยเป็นผู้ป่วยในเกิน 180 วันในระยะเวลา 1 ปี
กรณีส่งต่อผู้ป่วย
- สิทธิประกันสังคม หากต้องรับหรือส่งตัวผู้ป่วยไปวินิจฉัยต่อสถานพยาบาลอื่น ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิที่ลงทะเบียนไว้ สามารถเบิกค่าพาหนะภายในจังหวัดเดียวกันไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง กรณีข้ามเขตจังหวัดคิดระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท หากส่งต่อผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
- สิทธิบัตรทอง สามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะโดยขึ้นอยู่กับในแต่ละประเภทของพาหนะ
- ทางรถยนต์ ระยะทางไม่เกิน 50 กม.เบิกได้ตามจริงไม่เกิน 500 บาท หากระยะทางเกิน 50 กม. เบิกได้ครั้งละ 500 บาท และได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีก 4 บาทต่อกม.
- ทางเรือ ไม่เกิน 35,000 บาทต่อครั้ง
- ทางเฮลิคอปเตอร์ ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้ง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า สิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม ได้สิทธิในการรักษาคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในกรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต และชดเชยรายได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ประกันสังคมมอบให้ และสิทธิบัตรทอง ไม่มีให้ในส่วนนี้
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการรักษาอื่น ๆ อีกมากมายของทั้ง 2 สิทธิการรักษา เพื่อความเข้าใจและเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ถูกต้อง แนะนำสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนของแต่ละสิทธิการรักษา ดังนี้
- สายด่วน สปสช.(สิทธิบัตรทอง) สอบถามโทร 1330
- สายด่วน ประกันสังคม สอบถามโทร 1506
- Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลิกที่นี่