PM2.5 สารก่อ มะเร็ง ที่มีขนาดเล็ก อีกปัจจัยที่ก่อให้เกิด "มะเร็งปอด"
เปิดข้อมูล ฝุ่น PM2.5 ถูกจัดให้เป็นสารก่อ มะเร็ง ที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก เพียง 2.5 ไมครอน อีกปัจจัยที่ก่อให้เกิด "มะเร็งปอด" พบในภาคเหนือมากสุด
ภายหลังที่ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี หมอหนุ่ม เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ได้ออกมาเล่าเรื่องราวถึงอาการป่วย "มะเร็งปอด" ระยะสุดท้าย ระยะลุกลาม ซึ่งกว่าจะรู้ตัว มะเร็งร้ายก็ได้กินเนื้อที่ของปอดข้างขวาไปแล้วครึ่งหนึ่ง รวมทั้งได้ลุกลามไปยังปอดด้านซ้าย และลามไปถึงสมอง ทั้งที่ คุณหมอ มีสุขภาพที่แข็งแรง ออกกำลังกายตลอด ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารคลีน แต่ก็ยังเป็นได้
ซึ่ง "มะเร็งปอด" นั้น นอกจากการสูบบุหรี่ที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดได้นั้น ปัจจัยอีกทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดได้คือ ฝุ่น ซึ่ง ภาคเหนือ นั้น ถือว่ามีฝุ่นที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งทาง รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ได้นำข้อมูลงานศึกษา PM2.5 เป็นสารที่มีส่วนก่อ มะเร็ง ได้ เพราะมีโมเลกุลที่เล็กมาก จึงเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้เข้าหลอดลมจนไปสู่ปอด
ซึ่งทางเพจ WEVO สื่ออาสา ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ที่ได้ออกมาพูดถึง PM2.5 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิด "มะเร็งปอด" กล่าวว่า โดยสถิติแล้ว คนภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดมากกว่าทุกภูมิภาค มีผู้ป่วยโรค "มะเร็งปอด" เพศชายในทะเบียนมะเร็งของจังหวัดเชียงใหม่มากกว่าเพศหญิง แต่เมื่อพิจารณาอัตราการการป่วยด้วยมะเร็งปอดภาพรวมของประเทศไทย ผู้ชายป่วยเป็น "มะเร็งปอด" ร้อยละ 9.3 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 20.6
ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็น "มะเร็งปอด" มากที่สุด
" ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เมื่อก่อนเราจะบอกว่าการเป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้มากกว่าคนภาคอื่น แต่อัตราการเสียชีวิตด้วย "มะเร็งปอด" กลับสูงกว่าคนภาคอื่นๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สมัยก่อนพ่ออุ๊ยจะชอบสูบบุหรี่ขี้โย การแพทย์ก็จะบอกว่า นี่คือสาเหตุหลักของ มะเร็ง แต่ปัจจุบัน การสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก แต่อัตราการเป็น "มะเร็งปอด" ก็ยังสูงอยู่ดี งานวิจัยในช่วงหลังๆ พบว่า ชนิดของ "มะเร็งปอด" มีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5 " หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ระบุ
PM2.5 เป็นสารก่อ มะเร็ง ที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก
งานศึกษาของ รศ.พญ.บุษยามาส ระบุว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นเมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหวจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า
รศ.พญ.บุษยามาส บอกว่า ในอดีตชนิดของ "มะเร็งปอด" ที่พบคนป่วยในภาคเหนือคือสแควมัสคาร์ซิโนมา (Squamous Carcinoma) แต่แนวโน้มในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาในผู้ป่วยมากขึ้น
"สมัยก่อน "มะเร็งปอด" ที่คนภาคเหนือเป็นกันมากจะเรียกว่า Squamous แต่ช่วงหลังเป็น อะดีโนคาร์ซิโนมา กันเยอะมาก จากการทดลองพบว่า PM2.5 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ข้อมูลสองส่วนนี้มันสัมพันธ์กันพอดี เราพบ "มะเร็งปอด" ชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสภานการณ์ PM2.5 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมามากกว่า Squamous"
PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อ มะเร็ง ในมนุษย์
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ฝุ่นละออง PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสารก่อ มะเร็ง ในมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่ามลพิษในอากาศในประเทศไทยทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลทั้งทางด้านสุขภาพและทางด้านเศรษฐกิจ
รศ.พญ.บุษยามาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาที่ใช้ในการรักษา โรคมะเร็ง หากใช้สิทธิราชการหรือรัฐวิสาหกิจย่อมสามารถเบิกยาได้ครอบคลุมกว่าสิทธิบัตรทอง แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศถือบัตรทองในการเข้าถึงการรักษา ประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจึงสะท้อนปัญหาในอีกมิติหนึ่งในม่านหมอกควัน PM2.5
PM2.5 ไม่ได้ก่อให้เกิด "มะเร็งปอด" เพียงอย่างเดียว เพราะขนาดที่เล็กทำให้สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน ถุงลมโป่งพอง หอบหืด โรคหัวใจ ฯลฯ
ภาครัฐอาจจะต้องมีนโยบายในการป้องกัน นี่คือจุดที่สำคัญ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่เอาใจใส่ ต้องกำหนดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในการเตือนที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ประชาชนทราบข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ตระหนักว่าอากาศภายนอกไม่ได้ดีเหมือนที่ค่ามาตรฐานเดิมกำหนดไว้สูง การป้องกันก็มีหลายระดับ ทั้งตนเอง ชุมชน และนโยบายของรัฐ
"เราควรตระหนักว่า PM2.5 เป็นสารพิษที่จะเวียนมาในช่วงเวลาต้นปี แต่ไม่ควรตระหนก รวมถึงเราไม่ควรเป็นผู้ก่อมลพิษเสียเอง นอกจากนี้ เราควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลให้เกิดมาตรการหรือนโยบายที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนได้ดูแลตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้ว" รศ.พญ.บุษยามาส กล่าว
PM2.5 เป็นเหตุสำคัญของ "มะเร็งปอด"
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้เช่นกัน ว่า PM2.5 เป็นเหตุสำคัญของมะเร็งปอดชนิดที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งพบกว่า 50% ของผู้ป่วย "มะเร็งปอด" ชาวไทยโดยเฉพาะคนที่ไม่สูบบุหรี่ พบว่าเซลล์ปอดที่มี EGFR กลายพันธุ์ยังไม่เปลี่ยนเป็น มะเร็ง จนกระทั่งได้รับ PM2.5 เข้าไป
ปัญหา PM2.5 และอุบัติการณ์ของ "มะเร็งปอด" ในอินเดียก็ไม่ต่างกับบ้านเรา สถิติ มะเร็ง ปี 2020 ของอินเดียพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งสูงสุดอยู่ในเขตภาคเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับคุณภาพอากาศ และแนวโน้ม "มะเร็งปอด" เพิ่มขึ้น