สธ. เข้ม "เมนูกัญชา" ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง ฝ่าฝืน เจอโทษ
กระทรวงสาธารณสุข เข้ม "เมนูกัญชา" ร้านอาหาร ต้องปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวง อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค ฝ่าฝืนเจอโทษ
ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ที่ได้นำกัญชามาใช้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เพื่อยกระดับประกาศกรมอนามัย ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ให้มีสภาพบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ที่นำกัญชา หรือกัญชงมาใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เป็นเมนูกัญชาเพื่อจำหน่าย สร้างความปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย
- แสดงข้อความ หรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
- แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด
- แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการ บริโภคอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ ดังนี้
- “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน”
- “ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรง ให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว”
- “ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน” “เมื่อรับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
ทั้งนี้ กรมอนามัย ยังคงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้กัญชาในการประกอบ ปรุงอาหาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย พบการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจในการตรวจตราเฝ้าระวัง แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
รวมถึงคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ควรสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
โดยก่อนหน้านี้ กรมอนามัย ได้ออกคำแนะนำ การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ทั้งแบบปรุงสด ต้ม นึ่ง และทอด ว่า ใน 1 เมนูควรใช้ 1-2 ใบ โดยคำนวณปริมาณที่ควรได้รับว่า ไม่ควรกินอาหาร และเครื่องดื่มผสมกัญชาเกิน 2 เมนูต่อวัน กรณีที่กินจนหมด แต่หากเป็นกับข้าวหลายเมนู กินแต่ละเมนูอย่างละเล็กน้อย ไม่ได้กินหมดทั้งจานหรือทั้งแก้ว ก็อาจจะกินมากกว่า 2 เมนูได้
กัญชา มีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) อยู่ 2 ชนิดสำคัญ ได้แก่ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)
สาร CBD (Cannabidiol) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้
- ลดความวิตกกังวล ผ่อนคลาย
- ลดอาการปวด
- ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- ไม่มีผลต่อจิตประสาท และไม่ก่อให้เกิดการเสพติด
สาร THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ “สารเมา” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
- ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน
- ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว
- หวาดระแวง แพนิค
- ความจำระยะสั้นแย่ลง
- สมองทำงานแย่ลงโดยกะทันหัน
- มีผลอย่างมากต่อระบบสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยมีผลทั้งด้านความจำ และปริมาณเนื้อสมองที่จะลดลงถึง 10%
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวช หรือมีประวัติครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการประสาทหลอนอย่างถาวร สูงถึง 20%
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้จะหยุดการบริโภคไปแล้ว อาการก็อาจจะไม่ดีขึ้น โดยพบว่าสาร THC จะตกค้างอยู่ในกระแสเลือดได้นาน 1-7 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภค