ครั้งแรกในไทย "วัคซีน PCV" ป้องกัน เชื้อนิวโมคอคคัส ฉีดเด็ก 2-4 เดือน ฟรี
ครั้งแรกในประเทศไทย กทม. บริการ "วัคซีน PCV" ป้องกัน โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ฉีดเด็กอายุ 2 - 4 เดือน ฟรี 69 แห่ง ดีเดย์ 15 พ.ย. นี้
(14 พ.ย. 65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงโครงการให้บริการฉีด "วัคซีน PVC" ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ลดภาระรักษาพยาบาล ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ กทม. ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากมีการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส Streptococcus pneumoniae ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง อาจทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตได้
อาการโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
สำหรับอาการสำคัญและความรุนแรง จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น
- หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย
- หากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
- หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ตระหนักและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส และเพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จึงได้จัดทำโครงการให้บริการฉีดวัคซีน PCV ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ซึ่งจะให้บริการฉีดวัคซีนครั้งแรก ในที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ให้แก่เด็กที่มีอายุ 2 - 4 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และจะให้บริการต่อเนื่องในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well baby) ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย โทร 0 2203 2887-9 ในวันและเวลาราชการ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ จำนวน 5,870 คน คิดเป็นอัตราป่วย 106.19 ราย ต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยอายุระหว่างแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 17.69 ราย ต่อประชากรแสนคน
ทั้งนี้ หลายประเทศในยุโรป และสหรัฐ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ทั้งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งปัจจุบัน มีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็ก ที่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศบังกลาเทศ เมียนมา เนปาล และภูฏานเรียบร้อยแล้ว
สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน (EPI Program) ของประเทศ จึงยังไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ มีเพียงวัคซีนทางเลือกที่เสียค่าใช้จ่ายในการฉีดสูง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเข้าในแผนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครเห็นว่า สามารถดูแลในกลุ่มเด็กเล็กก่อนได้ จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น
วิธีป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
- หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด
- จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ
- หลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้กำลังมีอาการหวัด หรือไอ
- ให้โภชนาการที่เพียงพอแก่เด็ก โดยเริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือน แรกของชีวิต
- การฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดีที่สุด