ข่าว

อย. เตือน ซื้อ "ยาชุด" กินเอง ระวังเภสัชแอบให้ "สเตียรอยด์" อันตรายไตวายได้

อย. เตือน ซื้อ "ยาชุด" กินเอง ระวังเภสัชแอบให้ "สเตียรอยด์" อันตรายไตวายได้

15 พ.ย. 2565

อย. เตือน ซื้อ "ยาชุด" กินเองที่ร้านขายยา ระวังเภสัชแอบจ่าย "สเตียรอยด์" ให้ อันตรายถึงขั้นไตวายได้ หากหยุดกระทันหัน อาจเกิดภาวะช็อก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสว่า พบผลิตภัณฑ์ "ยาชุด" ต้องสงสัย ฉลากระบุสรรพคุณโอ้อวดเกินจริงและยังระบุสัญลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวตรวจสอบด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย พบว่า มีการปนเปื้อน "ยาสเตียรอยด์" และ "ยาต้านการอักเสบ" ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งจะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลต่อไป และจะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดและ ทางออนไลน์ หากตรวจพบจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย
 

ทั้งนี้ ปัญหา "ยาสเตียรอยด์" ถือเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพคนไทยเป็นเวลานาน เป็นเพราะสรรพคุณของยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ลักลอบนำไปใส่ใน "ยาชุด" หรือนำไปผสมกับ "สมุนไพร" ขายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ยาประดง ยาผงสมุนไพร ยากษัยเส้น 

 

โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่หาซื้อยามารับประทานเอง ผู้ขายจะใช้กลยุทธ์กล่าวอ้างเป็นยาสมุนไพรปลอดภัยใช้รักษาสารพัดโรค ทั้งกระดูกทับเส้น ปลายประสาทอักเสบ เหน็บชา เก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ปวดเข่า อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น เมื่อรับประทานยาจะเห็นผลในระยะแรก ๆ แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติที่สังเกตได้ 

ตั้งแต่มีใบหน้ากลมอูมเหมือนพระจันทร์ มีโหนกที่แก้ม มีหนอกที่คอ ตัวบวมเริ่มมีไตวาย  ถ้าหยุดยากะทันหัน อาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกได้ ยาสเตียรอยด์จึงจัดเป็น ยาควบคุมพิเศษ ร้านยาขายได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai , Facebook : FDAThai ก่อนทุกครั้ง 

 

หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในที่สุด