"หลวงพ่อสงวน" ผู้ให้โอกาสเด็ก 135 คน ต้นแบบการศึกษา เสมอภาคและเท่าเทียม
มารู้จัก "หลวงพ่อสงวน" กับแนวคิดที่เริ่มต้นการให้โอกาสกับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และคาดหวังว่าการศึกษาระดับปริญญาตรีจะช่วยแก้ปัญหาสังคมในอนาคตได้
"หลวงพ่อสงวน" หลายคนได้เริ่มรู้จักหรือ พระครูวิบูลประชากิจ เจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อ และเจ้าคณะตำบลโคกช้าง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่โลกโซเชียลมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางกับการรับเลี้ยงเด็ก 135 คน ทั้งที่พักอาหารการกิน เบี้ยเลี้ยงรายวัน และการให้โอกาสด้วยทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี
"ก็ไม่ได้ว่าอะไร" คำพูดที่หลวงพ่อสงวนพูดจนติดปาก หลังจากที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลี้ยงดูเด็กทั้งหมด ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิด แต่อาตมาเองก็มีความตั้งใจแบบนั้น เด็กวันนี้คืออนาคตของประเทศตั้งแต่แรกเริ่ม ครอบครัวสังคมจะแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญ อาตมาใช้เงินที่ญาติโยมถวายอาตมาที่เก็บไว้ไม่ได้ใช้ตั้งแต่เริ่มบวชเมื่ออายุ 20 ปี จนวันนี้ก็อายุปาเข้าไป 75 ปีแล้ว
หลวงพ่อสงวน บอกว่า โครงการ ที่อาตมาทำนี้ เด็กๆส่วนใหญ่เป็น "เด็กติดลบ" ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสวัดองค์เก่า และเมื่ออาตมาขึ้นเป็นเจ้าอาวาสต่อจึงได้สานงานต่อจากท่าน และก็มีความคุ้นเคยด้วยความชอบตั้งแต่ได้ร่วมช่วยท่านมาก่อนหน้านี้ ต้องบอกว่า เด็กเหล่านี้คือ เด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอยู่บนเขาอยู่แนวชายแดนในจังหวัดตาก และเป็นการบอกแบบปากต่อปากกันมาที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กที่อยากเรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และได้ฝากฝังให้อาตมาช่วยสนับสนุนพวกเขา
เคยคิดมั้ยว่า.. คนโง่กับคนฉลาดแตกต่างกันอย่างไร
คนเรียนน้อยมักใช้แรงงานได้เงินค่าจ้างเป็นรายวัน ส่วนคนที่เรียนสูงกว่ามักได้ ค่าจ้างเป็นเงินเดือน เมื่อป่วยหรือลาทำธุระอะไร เงินที่ได้จากการทำงานก็ไม่ถูกหัก และอีกอย่างหนึ่ง การได้เรียนสูงๆเรียนเยอะ มักจะมีประสบการณ์ทางความคิดได้ดีกว่าคนที่เรียนน้อยทั้งในเรื่องของปัญญาความคิดและสังคม
การให้โอกาสกับเด็กๆในวันนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา เรื่องความเท่าเทียมอันพึงมีของเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ เคยคิดมั้ย เด็กเหล่านี้หากถูกบูลลี่ในเรื่องเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่ เรื่องนั้นๆอาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กได้
"เด็กไม่กล้า" แม้จะเดินผ่าน "หน้าร้านขายของ"
อาตมายกตัวอยากเช่น เพื่อนในโรงเรียนเค้ามีกันหมดทั้งเงินเสื้อผ้าตำราเรียน ส่วนเด็กๆของอาตมาก็ต้องมีเหมือนกันเพราะมันเป็นพื้นฐาน แต่อาตมาจะสอนเสมอว่า เพื่อนเค้ามีก้อนใหญ่ แต่สำหรับเราแค่ก้อนน้อย เค้ากินน้ำแก้วใหญ่ เราก็ขอกินน้ำแก้วเล็กก็พอ ได้กินเหมือนกัน ดีกว่าไปเก็บตัวซ่อนตัวไม่กล้าเดินผ่านร้านขายของ นี่คือเหตุผลสำคัญที่อาตมาต้องให้เงินเบี้ยงเลี้ยงรายวันกับเด็กๆทุกคน
แม้กระทั่งผู้ใหญ่บางคนเป็น เวลามีเงินก็มักจะเสียงดังใหญ่โต แต่พอไม่มีเงินก็มักจะเก็บตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อนชวนเพื่อนเลี้ยงก็ยังกระดากใจที่จะไปร่วมงานกับเค้าด้วย ลองนึกสิ เด็กอายุน้อยๆขนาดนี้ ถ้าเค้าต้องเก็บตัวซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด แล้วสังคมเราในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป โรคซึมเศร้า จะถามหากันทั่วบ้านทั่วเมือง
และด้วยเหตุผลนี้ "ความเท่าเทียม" จึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเด็กที่อยู่กับอาตมา "มีมากมีน้อย ย่อมดีกว่าไม่มีเลย"
ค่าใช้จ่ายอ่วม แต่ก็ "นักเลง"พอตัว
เมื่ออาตมาตั้งใจจะกระทำสิ่งใดแล้ว ก็จะทำจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ทั้งค่าอาหาร ค่าเงินรายวัน ค่าทุนการศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยที่อาตมามีเก็บไว้ตั้งแต่สมัยบวชจนถึงทุกวันนี้ ส่วนใครที่อยากจะเข้ามาช่วยอาตมาก็ร่วมอนุโมทนาด้วย แต่อาตมาจะไม่ขอหรือเอ่ยปากให้เข้ามาช่วย บุญกุศลต้องทำด้วยใจอานิสงส์ถึงจะเกิด ทุกวันนี้ค่าใช้เยอะ และไม่เคยเครียดแม้เงินจะเริ่มหร่อยหรอลงบ้าง แต่ก็ขอทำวันนี้ให้ดีที่สุด การอยู่กับปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้องกระทำตามหลักพระพุทธศาสนาที่ต้องตั้งมั่นอย่างมีสติ และอยู่กับความไม่ประมาท
ไม่กลัวถูกมองว่า หากินกับเด็ก
"ก็ไม่ได้ว่าอะไร" อาตมาห้ามความคิดใครเค้าไม่ได้ การที่อาตมาต้องปฏิเสธหน่วยงานรัฐที่จะเอางบประมาณเข้ามาช่วยเหลือนั้น ก็เป็นเพราะ "งบฯนั้นเสมือนดาบฆ่าฟันกันได้" ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออาตมารับงบฯมาใช้จ่าย แต่พออนาคตเปลี่ยนเจ้านายแล้วมีการตรวจสอบย้อนหลัง เรื่องมันจะยิ่งบานปลายไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาตมาใช้เงินของอาตมาไม่เกี่ยวข้องเงินวัด ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อาตมาทำในสิ่งที่อาตมาพึงพอใจในการให้โอกาสกับเด็กติดลบแค่นั้นก็เพียงพอ และอาตมาเชื่อว่า อาตมาไม่เดือดร้อนในการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ใช่ว่าอาตมามีเงินเยอะนะ แต่อาตมาเชื่อว่า เด็กๆเหล่านี้จากรุ่นสู่รุ่นจะช่วยกันส่วนหนึ่ง การทำบุญทำทานของคนไทยยังไงก็ไม่เหือดหายไปแม้จะลดลงไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดแล้วทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไปได้ เด็กติดลบก็จะลดลงไปในสังคมได้แม้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าอนาคตอาตมาจะไม่ได้อยู่ถึงวันที่เด็กๆได้โตเป็นผู้ใหญ่กันทุกคน