ข่าว

แรงงานอุ้ม "สาว" โดนเลิกจ้าง หลังลาไปงานศพพ่อ ลั่นบริษัทต้องจ่ายชดเชย

แรงงานอุ้ม "สาว" โดนเลิกจ้าง หลังลาไปงานศพพ่อ ลั่นบริษัทต้องจ่ายชดเชย

19 พ.ย. 2565

กรณี "สาว" ลูกจ้าง ลาไปงานศพพ่อ 8 วัน ถูก นายจ้าง เชิญออก ระบุว่าขาดงานหลายวัน ล่าสุด กรมแรงงานออกมาชี้แจงแล้วว่า นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย

กรณี "สาว" ลูกจ้าง รายหนึ่งโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เว็บไซต์พันทิปว่า ลาไปงานศพพ่อ 8 วัน ถูก นายจ้าง เชิญออก ระบุว่าขาดงานหลายวัน ทำงานมาประมาณ 7 เดือน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ทาง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างพนักงานตรวจแรงงานประสานเพื่อขอข้อมูลและข้อเท็จจริงจากผู้โพสต์ หากพบว่าเป็นความจริงยืนยันให้ความช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเต็มที่

 

ล่าสุด ทาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี (สสค.) คุณ ไกรสร ลาภตระการ ได้ให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าว คมชัดลึกออนไลน์ ถึงกรณี "สาว" ลูกจ้างลาไปงานศพพ่อ 8 วัน ถูกนายจ้างเชิญออก โดยไม่จ่ายค่าชดเชยว่า 

เบื้องต้นทาง "สาว" ลูกจ้าง รายนี้ได้เข้ามาติดต่อที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี แล้ว กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้ นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน

 

ซึ่งการลากิจธุระอันจำเป็นเป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ การลากิจธุระอันจำเป็น หมายถึง กรณีที่ลูกจ้างมีกิจธุระอันจำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง หรือของครอบครัว เช่น จัดการงานศพบุคคลในครอบครัว ทำบัตรประชาชน เป็นต้น

ดังนั้น หาก "สาว" รายนี้ หรือลูกจ้างจะต้องลาไปจัดการศพของบิดาที่ต่างจังหวัด ย่อมถือเป็นกิจธุระอันจำเป็นที่ ลูกจ้าง สามารถใช้สิทธิลาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของ นายจ้าง ด้วย

 

ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ "สาว" รายนี้ เป็นเงิน 47,849 บาท และจะมีการเชิญ นายจ้าง มาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย.65 เวลา 13.30 น. ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี หากสุดท้ายนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยสามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้