ข่าว

"PM 2.5" เพิ่มความเสี่ยง ติดเชื้อโควิด เจอแค่ 10 ไมโครกรัม เสี่ยงเพิ่ม 66%

"PM 2.5" เพิ่มความเสี่ยง ติดเชื้อโควิด เจอแค่ 10 ไมโครกรัม เสี่ยงเพิ่ม 66%

19 พ.ย. 2565

หมอ ประสานเสียง "PM 2.5" เพิ่มความเสี่ยง "ติดเชื้อโควิด" ผลวิจัย พบ สัมผัส ฝุ่นพิษ แค่ 10 ไมโครกรัม เสี่ยงเพิ่มถึง 66%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ หมอธีระ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัปเดตความรู้เรื่องโควิด-19 โดยยกผลการศึกษาของ Sheppard N และคณะ จากมหาวิทยาลัยโมนาร์ช ประเทศออสเตรเลีย ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยทั่วโลกจำนวน 18 ชิ้น

 

พบว่า ฝุ่น PM.2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 66%

 

 

หมอธีระ ระบุว่า จากการวิจัยต่าง ๆ ที่มีนั้น แม้จะยังฟันธงถึง cause-effect relationship ไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดของการออกแบบแต่ละการวิจัย แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะมีฝุ่นหรือไม่มีก็ตาม จากความรู้ที่เราเคยมีอยู่ว่า หากอยู่ในพื้นที่ หรือสถานที่ ที่ระบายอากาศไม่ดี อากาศนิ่ง ย่อมมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน และทำให้คนในพื้นที่หรือสถานที่นั้นมีโอกาสติดเชื้อโควิดมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศจะเริ่มเย็นลง ในขณะเดียวกัน ก็มาพร้อมกับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งฝุ่นจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของคนปกติอักเสบ และมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ในกรณีผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้ว อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 โดยบางรายอาจมีอาการระคายคอ ไอ มีเสมหะง่าย หรือมีน้ำมูก

 

ด้าน หมอนิธิพัฒน์ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า ระบบทางเดินหายใจของคนเรา จะมีระบบต้านทานเชื้อโรค

 

ด้วยการสร้างเมือกไว้ดักจับสิ่งแปลกปลอม และมีขนเล็ก ๆ ในหลอดลม ที่เรียกว่าซีเลีย คอยพัดโบกเอาเชื้อโรค เอาสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย ผ่านการไอ จาม การอักเสบเรื้อรังจากการได้สูดดมฝุ่นควัน จะทำให้น้ำมูกที่ฉาบระบบทางเดินหายใจแห้งลง ขนเล็ก ๆ ที่คอยพัดโบกในหลอดลมก็ตาย ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมออกไปได้ และเชื้อโรคก็จะฝ่าเข้าสู่เซลล์ที่มีการอักเสบ ที่ไร้เกราะป้องกันได้ง่ายกว่าปกติ

 

ส่วนกลุ่มไหนเสี่ยงที่สุดต่อการติดเชื้อโควิด หรือป่วยโควิด-19 แล้วอาการจะรุนแรงกว่าหรือไม่นั้น หมอนิธิพัฒน์ ชี้แจงว่า ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้อย่างเด่นชัด จึงไม่สามารถให้คำตอบได้ ดังนั้น ขอให้คนที่สัมผัสและต้องสูดดม ควัน ฝุ่น ก๊าซ บ่อย ๆ ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ควรปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด โดยเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนหมู่มาก หรือในที่ระบบอากาศปิดไม่ถ่ายเท หรือถ้าต้องไปควรใส่หน้ากากอนามัย

 

"นั่นหมายความว่า ประชาชนในพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง รวมถึงตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน แรงงานก่อสร้าง กลุ่มแรงงานโรงโม่หิน เหมืองหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอาชีพอื่น ๆ ที่สัมผัสกับฝุ่น ควัน ก๊าซ ฯลฯ มีสิทธิที่จะมีอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้มากขึ้น  ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ ภายใต้สิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และได้รับการป้องกันและควบคุมโรค และปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ ซึ่งทุกฝ่ายมีภาระหน้าที่ร่วมกัน ที่ต้องทำให้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ไม่เป็นภัยคุกคามกับคนไทยอีกต่อไป" หมอนิธิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย