เปิด 3 ช่วงอายุเด็กป่วย "โรคซึมเศร้า" สังเกต 4 แบบ 10 จังหวัดป่วยสูงสุด โคราช
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าภาวะซึมเศร้า จนเป็นที่มาชอง "โรคซึมเศร้า" กำลังโตขึ้นโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น ขณะที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศผู้ป่วยยังคงเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง
ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" (Depression)
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เป็นโรคที่ส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์และความรู้สึก หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของความผิดหวังเศร้าใจหดหู่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ในบางครั้งเรื่องดังกล่าวเหล่านี้สามารถมีขึ้นและหายไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการหนักกว่าที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน และคนรอบข้างสามารถสังเกตเบื้องต้นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นติดกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และเมื่อเป็นนี้ต้องเข้ารักษาอาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อประเมินอาการและการรักษา ทั้งนี้ตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักจะพบกับเพศหญิง ด้วยสาเหตุจาก 1.การมีรอบเดือน 2.หลังการคลอดบุตร 3.ตามฤดูกาล และ 4.การซึมเศร้าจากจิต
เปิดตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 10 จังหวัดสะสมสูงสุด
จากตัวเลขศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 พบว่า ประชากร(2564)ในประเทศตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 50,521,654 คน พบจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสะสมที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาจำนวน 1,235,335 ราย โดย 10 จังหวัดที่พบมากที่สุดได้แก่
1.นครราชสีมา 64,928 ราย
2.จังหวัดเชียงใหม่ 50,112 ราย
3.อุบลราชธานี 46,809 ราย
4.ขอนแก่น 38,878 ราย
5.นนทบุรี 36,694 ราย
6.บุรีรัมย์ 34,994 ราย
7.สงขลา 30,827 ราย
8.สุราษฎร์ธานี 27,848 ราย
9.ศรีสะเกษ 27,769 ราย
และ 10.นครศรีธรรมราช 27,273 ราย
และจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม 3,248 ราย และจากศูนย์ข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวช มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีตัวเลขสอดรับกับสถานการณ์ทั่วโลกด้วย
สังเกต 4 อาการ "โรคซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่น"
จากสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมกลุ่มวัยรุ่นไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงทันต่อสถานการณ์โลก มีการเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วทั้งความคิด พฤติกรรม ความรักและผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และในบางครั้งทั้งผู้ปกครองและเด็กไม่มีความเข้าใจในภาวะอาการของโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบบานปลายเนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษาให้ทันท่วงที
ทั้งนี้ วิธีสังเกตอาการเข้าข่าย "ภาวะซึมเศร้า" หรือไม่ ดังนี้
1.อาการทางด้านอารมณ์ เกิดความเบื่อหน่าย เศร้าใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงไม่มีสาเหตุ ไม่สนใจเรื่องใดๆหรือสิ่งต่างๆ
2.อาการด้านความคิด ไม่มีสมาธิ ขาดการตัดสินใจหรือตัดสินใจในเรื่องใดๆไม่ได้ คิดว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ด้อยค่า อยากตาย
3.อาการด้านพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน เคลื่อนไหวช้า ร้องไห้บ่อยครั้ง ทำร้ายตัวเอง
4.อาการทางชีววิทยาทางร่างกาย ไม่สามารถนอนหลับได้หรือนอนมากเกินไป เบื่ออาหารหรือนำหนักลด หรือรับประทานมากเกินไปและน้ำหนักขึ้น มีอาการเหนื่อยตลอดเวลา
ทั้งนี้ อาการซึมเศร้าทั้ง 3 อาการมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลางและรุนแรง
สาเหตุเด็กเป็น "โรคซึมเศร้า"
1.จากพันธุกรรม กรณีที่บิดามารดาหรือญาติสนิทเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
2.ปัญหาครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก อาทิ พ่อแม่สูญเสียหรือจากไป มีประสบการณ์จากการทำร้ายทุบตีหรือทอดทิ้ง มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
3.มีความคิดในทางลบบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากขาดความเอาใจใส่ของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง
4.มีประสบการณ์ชีวิตในทางที่ผิดหวัง ทั้งในเรื่องการเรียน เพื่อนในโรงเรียน การย้ายโรงเรียน และการผิดหวังในความรัก
ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าในเด็ก พบ 1%ในวัยก่อนเรียน และ 5-8 เปอร์เซ็นต์ในวัยรุ่น และสูงถึง 15.3%ในช่วงชีวิตของวัยรุ่นจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนผ่านทางบทบาท ความขัดแย้งทางเพศ ความคาดหวังของครอบครัวและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่ภาวะที่เกิดขึ้นสะสมเฉลี่ยถึง 17 เดือน
ลักษณะที่พบบ่อยใน "เด็กเล็ก"
1.หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย หยุดร้องยากมาก
2.ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ยิ้มยากและไม่แสดงอารมณ์ออกมา
3.เคลื่อนไหวช้าและมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น โยกตัว ชอบใช้หัวโขก ดูดนิ้ว
4.ทาอาหารน้อย หรือบางครั้งปฏิเสธอาหาร
5.นอนหลับยาก และสะดุ้งตื่นง่าย
6.มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในระดับเดียวกัน
ลักษณะที่พบบ่อยใน "เด็กโต"
1.หงุดหงิด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจเรียน ปัสสาวะรดที่นอนบ่อยครั้ง ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่พบสาเหตุ ชอบแยกตัวกับเพื่อน
2.สีหน้าเศร้าหมอง ร้องไห้ง่าย ซึม บ่นว่าตนเองไม่ดี หรือไม่เก่งเท่าเพื่อน พูดถึงเรื่องความตาย หรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้
ลักษณะที่พบบ่อยใน "เด็กวัยรุ่น"
มีอาการของโรคซึมเศร้าคล้ายกับในผู้ใหญ่ เฉยชา เหมือนหมดเรี่ยวแรงจะทำอะไร หรือรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า มีความท้อแท้ในชีวิต อาจแสดงออกด้วยปัญหาพฤติกรรม และ การใช้ยาเสพติดได้ เนื่องจากเด็กใช้ยาเพื่อช่วยให้ตนเองลืมความทุกข์ และเด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงมากด้วย