ข่าว

จับตา "โควิด19" B.1.641 แพร่จาก กวาง สู่ คน ขณะ ยอด ผู้ติดเชื้อ ไทยสูงต่อเนื่อง

จับตา "โควิด19" B.1.641 แพร่จาก กวาง สู่ คน ขณะ ยอด ผู้ติดเชื้อ ไทยสูงต่อเนื่อง

21 พ.ย. 2565

ยอด ผู้ติดเชื้อ "โควิด19" รายสัปดาห์ ยังสูงต่อเนื่อง ขณะ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูล B.1.641 แพร่ระบาดใน กวาง ก่อนจะมาแพร่สู่ คน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด19" ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นจำนวนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่ามีจำนวน 3,957 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 565 ราย/วัน ยอด ผู้ติดเชื้อ เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้จำนวน 791 ราย

 

 

ขณะที่ผู้เสียชีวิตนั้น มีจำนวน 69 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 9 ราย/วัน เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 27 ราย โดยยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,478,895 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) และผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 11,408 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) เมื่อดูจากตัวเลข จะสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และ ช่วงเปิดเทอม จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น

 

ยอดติดเชื้อโควิด19

 

โควิด คลื่นลูกใหม่

 

โดยทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูล โควิด คลื่นลูกใหม่กลายพันธุ์ที่กำลังก่อตัวจะระบาดไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่จากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยสมาชิกในกลุ่ม ซุปโอไมครอน  ซึ่งมีการกลายพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น BQ.1, BR.2.75, XBB ฯลฯ

 

ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาทั่วโลกสังเกตพบการระบาดของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละทวีปโดยการกลายพันธุ์ส่วนหนามบางตำแหน่งกลับมาเหมือนกัน เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในมนุษย์จากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นซึ่งเรียกการวิวฒนาการแบบนี้ว่าการวิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน (convergent evolution)

 

การวิวัฒนาการของสายพันธุ์ย่อย โอไมครอน

 

การวิวัฒนาการในลักษณะกลับมาบรรจบกันที่ชัดเจน คือ การวิวัฒนาการของโครงสร้าง "ปีก" ของสัตว์ที่มีบรรพบุรุษต่างกันมา แต่มีคุณสมบัติเดียวกันคือช่วยให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเคลื่อนที่บนอากาศได้ เช่น ปีกของ นก ค้างคาว ไดโนเสาร์ และ ผีเสื้อ โดยการวิวัฒนาการในลักษณะนี้ (convergent evolution) พบในส่วน "หนาม" ของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ เช่น BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ XBB เพื่อช่วยหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และช่วยให้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ทำให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อ สายพันธุ์ BA.5 ดั้งเดิมได้ดีขึ้น จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการระบาดของ ( โอไมครอน ) คลื่นลูกใหม่ไปทั่วโลก

 

วิวัฒนาการที่กลับมาบรรจบกัน

 

B.1.641 ระบาดใน กวาง และแพร่กลับมาสู่คน

 

นอกจากนี้ทีมวิจัยแคนาดายังพบเชื้อ "โควิด19" สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.641 ซึ่งหลบไประบาดใน กวาง ระยะหนึ่งและแพร่กลับมาสู่คน โดยหน่วยงานสาธารณสุขของแคนาดา (PHAC) ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าว มีการตีพิมพ์รายละเอียดในวารสารการแพทย์ Nature เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565

 

ไวรัสโคโรนา B.1.641 ตรวจพบเมื่อปลายปี 2564 ใน กวางหางขาว 5 ตัวจากการสุ่มสวอปจมูก กวางหางขาว ไปทั้งสิ้น 300 ตัว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทรีโอในแคนาดาและในช่วงเวลาเดียวกันมีการตรวจพบไวรัสโคโรนาที่มีรหัสพันธุ์คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ B.1.641 ประมาณ 80-90% ในผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง คาดว่าติดมาจากการสัมผัส กวาง อันเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาจากกวางกลับมาสู่คน

 

จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมพบว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิม "อู่ฮั่น" ถึง 76 ตำแหน่ง และมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ เบต้า ไอโอตา และเอปซิลอน ชี้ให้เห็นว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 สามารถแพร่จากคนมาสู่กวางและแพร่หมุนเวียนและมีวิวัฒนาการในประชากร กวาง เป็นเวลาหลายเดือน โดยมี กวาง ทำหน้าที่เป็นรังคโรค (Reservoir) ก่อนที่จะแพร่กลับมาติดผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว 

 

หมายเหตุ ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ อัลฟา เบตา และเดลตามีการกลายพันธุ์ไปประมาณ 24 - 40 ตำแหน่ง ในขณะที่ โอไมครอน BA.5 กลายพันธุ์ไปประมาณ 105 ตำแหน่ง ต่างจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" 

 

ยังไม่พบการแพร่ B.1.641 จากคนสู่คน

 

ข่าวดีคือผลการทดลองในห้องปฏิบัติการพบแอนติบอดีจากผู้ที่หายจาก COVID-19 หรือจากผู้ที่รับวัคซีน สอง หรือ สามโดส สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ "โควิด19" B.1.641 (ที่แยกได้จากกวาง) ในหลอดทดลองได้ดี ทำให้เรายังไม่พบการระบาดในคนถัดจากผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว

 

ดังนั้น ไวรัสโคโรนา 2019 ไม่เพียงแต่แพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนเท่านั้น ยังสามารถหลบเข้าไปเพิ่มจำนวนในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เลี้ยงลูกด้วยนมในลักษณะของโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) ก่อนกระโจนกลับมาติดมนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้การควบคุมหรือกำจัด ไวรัสโคโรนา 2019 ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะการควบคุมการระบาดไวรัสในสัตว์ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเมื่อเทียบกับการควบคุมการระบาดในคน

 

B.1.641 ในกวาง

 

 

ที่มา : Center for Medical Genomics