"วัคซีนโควิด" Bivalent วัคซีน รุ่น 2 รับมือ กลายพันธุ์ ไทยมีลุ้นหรือไม่
รู้จัก "วัคซีนโควิด" Bivalent วัคซีนป้องกันโควิด รุ่น 2 ที่พัฒนาเพื่อเตรียมรับมือกับ สายพันธุ์ ที่มีการกลายพันธุ์ ตลอดเวลา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด19 ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อ เริ่มมีมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งไม่ใช่แค่ในเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงตามฤดูกาล
ซึ่งสิ่งสำคัญที่ยังคงต้องมี คือ "วัคซีนโควิด" ที่ได้มีการปรับสูตร เพื่อรองรับสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็น "วัคซีนโควิด" รุ่น 2 โดยทาง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา นั้น ได้มีการพัฒนาวัคซีนออกมาเจน 2 เรียกว่า Bivalent ซึ่งก็ได้มีข้อมูลการพัฒนาออกมาเรื่อยๆ จนเห็นว่า สามารถรับมือกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ได้พอสมควร
โดย "วัคซีนโควิด" Bivalent ประกอบด้วยส่วนประกอบของไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเพื่อให้การป้องกัน โควิด19 ในวงกว้าง และส่วนประกอบของตัวแปร โอไมครอน เพื่อให้การป้องกัน จากสายพันธุ์ โอไมครอน ที่ดีขึ้น ซึ่งวัคซีน Bivalent จึงเป็น วัคซีนเข็มกระตุ้น ที่ถือว่าเป็นรุ่นล่าสุดในเวลานี้
FDA อนุมัติ "วัคซีนโควิด" รุ่นใหม่ชนิด Bivalent สู้ BA.4/BA.5
โดยทาง หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยโพสต์ข้อความ กล่าวถึง "วัคซีนโควิด" รุ่นใหม่สำหรับโรค โควิด19 ซึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทาง US FDA ได้อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนรุ่นใหม่ชนิด Bivalent ของ Pfizer-Biontech และ Moderna เพื่อฉีดเป็น เข็มกระตุ้น แล้ว
โดย "วัคซีนโควิด" ชนิด Bivalent นั้นจะครอบคลุมสายพันธุ์ดั้งเดิม และ BA.4/BA.5 ทั้งนี้ Pfizer-Biontech ใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ในขณะที่ Moderna ใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป การฉีด เข็มกระตุ้น ด้วย Bivalent vaccine นั้น สามารถให้ได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย (ไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้เข็มสุดท้ายเป็นเข็มสอง หรือเป็น เข็มกระตุ้น ก็ตาม)
ทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน "วัคซีนโควิด" ของ ไฟเซอร์ สูตรเก่า - ใหม่
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยข้อมูล ผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์หลักๆ ในกลุ่มที่ฉีด "วัคซีนโควิด" Pfizer สูตรเก่า (Monovalent) เทียบกับวัคซีนสูตรใหม่ (Bivarent) โดยเก็บตัวอย่างซีรั่มหลังฉีด เข็มกระตุ้น (เข็ม 4) ที่ 1 เดือน เปรียบเทียบโดยใช้ไวรัสตัวจริง
1. วัคซีนเข็มกระตุ้น สูตรใหม่สามารถ ให้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์กลุ่ม โอไมครอน ได้มากกว่า กลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรเก่า โดยเฉพาะไวรัสกลุ่ม BA.4/BA.5 ซึ่งตรงกับวัคซีนในวัคซีนสูตรใหม่ ภูมิถูกกระตุ้นจากก่อนฉีดขึ้นมา 13 เท่า ในขณะที่วัคซีนสูตรเก่ากระตุ้นขึ้นมาได้ประมาณ 3 เท่า
2. ความสามารถในการกระตุ้นด้วย วัคซีนสูตรใหม่ ดูเหมือนจะได้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสกลุ่มที่เป็นลูกหลานของ BA.4/BA.5 ได้พอสมควร เช่น กลุ่ม BA.4.6, BQ.1.1 ตัวเลขภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาได้อยู่ระดับ 8.7 - 11.1 เท่า เทียบกับวัคซีนสูตรเดิมที่ 1.8-2.3 เท่า
3. เมื่อดูภูมิจาก วัคซีนสูตรใหม่ กับไวรัสที่มีบรรพบุรุษเป็น BA.2 คือ กลุ่ม BA.2.75 และ XBB ความจำเพาะต่อไวรัสจะลดลง เนื่องมาจากวัคซีนเริ่มไม่ตรงกับสายพันธุ์ไวรัส ภูมิต่อ BA.2.75 เพิ่มขึ้น 6.7 เท่า และ ต่อ XBB เพิ่ม 4.8 เท่า
4. จุดที่น่าสนใจคือ จำนวนเท่าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับภูมิก่อนฉีดต่อไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ที่ต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขที่ออกมาอยู่ที่ 196 ต่อ BA.2.75 และ 84 ต่อ XBB ซึ่งค่อนข้างต่ำและอาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกัน XBB ในบางคนที่ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดคือ 1 เดือนหลังฉีด เข็มกระตุ้น ด้วยวัคซีนสูตรใหม่ จะมีภูมิป้องกัน XBB ได้ พอๆ กับ ภูมิของเราตอนนี้ที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้นใดๆ กับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งคงติดได้ไม่ยากแม้เราจะมีภูมิจากวัคซีนสูตรใหม่มาแล้ว
แต่สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว และถูกกระตุ้นด้วย "วัคซีนโควิด" สูตรใหม่ตัวเลขจะสูงกว่าคนไม่เคยติดมาก่อน จากข้อมูลชุดนี้ ภูมิต่อ XBB ในคนที่ไม่เคยติดได้แค่ 55 แต่คนที่เคยติดแล้วได้ 131 ซึ่งเห็นความแตกต่างอยู่
เห็นชอบ แนวทางการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปี 2566
ขณะที่ที่ประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบแนวทางการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปี 2566 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มี วัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและ อสม. รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้ "วัคซีนโควิด" ในปี 2566 อย่างเหมาะสม
รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรค โควิด19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับแล้ว ส่วนผลการดำเนินงานด้าน "วัคซีนโควิด" ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดสรับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82.4 รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 77.5 และรับ วัคซีนเข็มกระตุ้น แล้วกว่า 32.4 ล้านโดส ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 รวม 17,745 คน
แต่อย่างไรก็ตาม ชนิดของวัคซีน ที่จะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อรองรับกับโควิดกลายพันธุ์ ตามแผนการจัดหา "วัคซีนโควิด 2566" ยังไม่มีการระบุชนิดของวัคซีนที่จะใช้ในประเทศไทย