ข่าว

"โควิด19" แนวทางการรักษาฉบับใหม่ ปรับการจ่ายยา ใช้ LAAB มากขึ้น มีผลวันนี้

"โควิด19" แนวทางการรักษาฉบับใหม่ ปรับการจ่ายยา ใช้ LAAB มากขึ้น มีผลวันนี้

30 พ.ย. 2565

แนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับใหม่ ปรับการจ่าย ยาต้านไวรัส เพิ่มการใช้ LAAB มากขึ้น มีผลบังคับใช้ 30 พฤศจิกายน 2565 ย้ำ วัคซีนโควิด 4 เข็ม ช่วยลดอาการหนัก

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการปรับแนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับที่ 26 ที่ใช้ในกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ว่า แนวทางการรักษาโควิด มีการปรับเพื่อให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ โดยจะมีการประกาศใช้ 30 พ.ย.นี้

 

 

ซึ่งรายละเอียด เป็นการปรับเรื่องการจ่าย ยาต้านไวรัส และเพิ่มการใช้ Long Acting AntibodyLAAB ) ให้มากขึ้น เน้นในการรักษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการให้ยาต้านไวรัสอื่น ที่ยังคงใช้อยู่เช่นเดิม

โดย แนวทางการรักษา "โควิด19" ฉบับล่าสุดที่มีการปรับเปลี่ยน คือ 

 

1. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรครุนแรง จากเดิมที่มีรายละเอียดมาก ก็ปรับเหลือเพียงให้การดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจแพทย์ หากต้องให้ยาต้านไวรัสก็อาจให้ ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ได้ปรับเกณฑ์ของปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เพื่อให้เข้าถึงยาต้านไวรัสสะดวกขึ้น ใน 3 กลุ่ม คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ในระยะ 2 ขึ้นไป, โรคหัวใจและหลอดเลือด Class 2 ขึ้นไป และโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ก็ปรับเป็นไม่มีระยะของโรคและเป็นโรคเบาหวานธรรมดา แพทย์สามารถให้ยาตามดุลยพินิจได้ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ ได้เพิ่มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาด้วย ซึ่งอาจให้ LAAB ตัวเดียวหรือให้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่นก็ได้ตามอาการหรือตามดุลยพินิจของแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์การติดเชื้อ "โควิด19" ในขณะนี้ พบว่าแม้กราฟจะเริ่มสูงขึ้นพบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แต่อัตราการครองเตียง โควิด จาก 7,564 เตียง มีการใช้แค่ 1,468 เตียง หรือคิดเป็น 19.4% แต่หากมองเป็นเตียงระดับ 2 และ3 ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็ใช้ไปแค่ 35% ซึ่งถือว่ายังไม่มาก คาดว่าแม้ในช่วงหยุดยาวในเดือนธันวาคม อัตราการใช้เตียงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 50%

 

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวย้ำว่า ทุกคนควรรับ วัคซีนโควิด ให้ครบ 4 เข็ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือติดแล้วโอกาสจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยลง การรับวัคซีนอย่างน้อยคนละ 4 เข็ม เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยอาจไม่ต้องนับว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว เพราะหากเกิน 3 เดือนภูมิคุ้นกัน ทั้งวัคซีน และการติดเชื้อ จะทำให้ภูมิที่เคยมีลดลง