สรุป "ต่างชาติซื้อบ้าน" ครองที่ดินในไทย หลัง ทุนจีนสีเทา ใช้นอมินี ซื้อบ้าน
สรุปกฎหมาย "ต่างชาติซื้อบ้าน" ถือครองที่ดินในไทยได้มากแค่ไหน หลัง ทุนจีนสีเทา ใช้ นอมินี กว้านซื้อ บ้านหรูย่านลาซาล เกือบทั้งโครงการ
จากกรณีข่าวใหญ่กลุ่ม ทุนจีนสีเทา กว้านซื้อ บ้านหรูย่านลาซาล 50 หลัง เกือบทั้งหมู่บ้าน โดยเป็นการซื้อบ้าน ถือครองที่ดินผ่าน คนไทยที่เป็น นอมินี ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตกตะลึงให้แก่คนไทยอย่างมาก เนื่องจากทั้งหมู่บ้าน มีคนไทยที่เป็นเจ้าของบ้านจริง ๆ เพียง 16 หลังเท่านั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนย้อนกลับไป ค้นหากฎหมาย "ต่างชาติซื้อบ้าน" และ ถือครองที่ดิน ในไทย ว่าสามารถ ซื้อบ้าน หรือ จ้าง นอมินี ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ขนาดนี้ได้อย่างไร
คมชัดลึกออนไลน์ สรุป กรณี "ต่างชาติซื้อบ้าน" และ ถือครองที่ดินในไทย ได้ดังนี้
- ต่างชาติสามารถซื้อคอนโดได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในแต่ละอาคาร เช่น คอนโด A อาคาร 1 มีจำนวน 1,000 ยูนิต จะขายให้ชาวต่างชาติได้ 490 ยูนิต หากชาวต่างชาติจะมาเกร็งกำไรกว้านซื้อ 1,000 ยูนิต ไม่สามารถทำได้
- ต่างชาติไม่สามารถมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถตั้งบริษัทไทยตามกฎหมายไทย เพื่อถือครองที่ดินในนามนิติบุคคลแทน แต่ที่ดินจะเป็นของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ของชาวต่างชาติ
- เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้ แต่สามารถเช่าที่ดิน เพื่อสร้างบ้านได้ โดยชาวต่างชาติจะป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านเท่านั้น โดยการขออนุญาตสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร
ต่างชาติถือครองที่ดิน ได้ในกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
- ได้มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งรับได้ 2 กรณี สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ สำหรับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ไม่เกิน 10 ไร่
- ลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในกิจการที่รัฐบาลกำหนด ระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี ถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่สำหรับอยู่อาศัย
- รับโอนที่ดินผ่านกฎหมายอื่นที่ส่งเสริมการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย
ตามกฎกระทรวงได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "ต่างชาติซื้อบ้าน" ในไทยไม่ได้ แต่สามารถเช่าที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ ส่วนกรณีที่ ทุนจีนสีเทา มีการว่างจ้าง นอมินี เพื่อกว้านซื้อ บ้านหรูย่านลาซาล นั้น
นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ว่า กรณีที่ ทุนจีนสีเทา จ้างคนไทยเป็นนอมินีซื้อบ้านหรูนั้น ผู้ที่เป็นนอมินีไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา แต่สามารถเอาผิดได้หากมีการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่าเงินที่นำมาซื้อบ้านนั้นได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือมีการฟอกเงิน ซึ่งจะต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อชี้ความผิดเสียก่อน
นอกจากนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า บ้านของชาวต่างชาติได้มาโดยไม่ถูกต้อง ทางกรมที่ดินสามารถเผิกถอนนิติกรรมได้เลยทันที ส่วนกรณีค่าเสียหายเป็นหน้าที่ที่บริษัทขายบ้านจะต้องไกล่เกลี่ยกับทางผู้ซื้อบ้านเอง