ข่าว

"โอไมครอน BF.7" ติดง่าย แพร่เร็ว เปิด 5 อาการหลัก ติดแล้วใช่

"โอไมครอน BF.7" ติดง่าย แพร่เร็ว เปิด 5 อาการหลัก ติดแล้วใช่

01 ธ.ค. 2565

"โอไมครอน BF.7" โควิดลูก สายพันธุ์ย่อย BA.5 ติดง่าย แพร่เร็ว ระบาดหนักในจีน ไทยเจอแล้ว 3 ราย เปิด 5 อาการหลัก ที่พบบ่อย

ดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่หมดง่าย ๆ เนื่องจากมีการพบการกลายพันธุ์ แตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งขณะนี้พบว่า โควิดที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วนใหญ่เป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.5 

 

แต่ขณะที่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่า โอไมครอน BF.7 ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาโควิดลูกของ BA.5 กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก โดยพบตัวเลขผู้ติดเชื้อ เกิน 1,000 รายต่อวัน และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดใหญ่ในนครปักกิ่งขณะนี้มี 3 สายพันธุ์คือ BF.7, BA.5.2, และ BA.5.1.7 ซึ่งคาดว่า แพร่มาจากแถบมองโกเลีย ในประเทศจีน โดยมี BF.7 เป็นสายพันธุ์หลัก ส่วนประเทศไทย จากข้อมูลโควิดโลก (GISAID) ณ วันที่ 29 พ.ย.2565 พบ BF.7 แล้ว 3 ราย โดย 5 อาการโควิด BF.7 ที่พบบ่อย คือ 

 

  • คัดจมูก 
  • เจ็บคอ 
  • ไอ 
  • อ่อนเพลีย 
  • น้ำมูกไหล

 

ทั้งนี้ จากรายงาน พบ โอไมครอน BF.7 ในเบลเยียม จีน มองโกเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริการวมทั้ง ประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.1, BA.2, BA.5 นั้น BF.7 จะแพร่เชื้อได้ดีกว่ามาก ด้วยศักยภาพในการหลบเลี่ยงของภูมิคุ้มกันที่แรงกว่า ระยะฟักตัวที่สั้นกว่า (2-3 วัน) และความเร็วในการแพร่เชื้อใกล้เคียงกับ BA.2.75 แต่ยังเป็นรอง XBB และ BQ.1 

 

โอไมครอน BF.7

ในสหรัฐอเมริกาพบมากเป็นอันดับที่ 4 ประมาณ 7% มีการประเมินว่าอัตราการแพร่ระบาด (R0) ของโควิดสายพันธุ์ "เดลตา" อยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 6 ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อ จะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นโดยเฉลี่ย 5 หรือ 6 คน 

 

ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BF.7 มีค่า R0 เท่ากับ 10-18.6 ซึ่งทำให้สายพันธุ์นี้ เป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ในตระกูลโอไมครอน ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด 

โอไมครอน BF.7

หมายเหตุ ค่าเฉลี่ยของความน่าจะเป็นของผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง ที่สามารถแพร่เชื้อ (จุลชีพ หรือ ไวรัส) ไปสู่ผู้อื่นได้กี่คน เรียกค่านี้ว่า Reproductive number: R0 หรือ R naught ภายใต้เงื่อนไขที่กลุ่มตัวอย่างที่จะนำมาคิดคำนวณ มาคำนวณหาค่า R0 ควรเป็นผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ และไม่ฉีดวัคซีน

 

โอไมครอน BF.7 รุนแรงแค่ไหน

 

จากการนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของโอไมครอนแต่ละสายพันธุ์ ในช่วงเวลา 6 เดือนของการระบาดมาคำนวณพบว่า โอไมครอน BF.7  ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ BA.5 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5.2, BA.5.1.7 ประมาณ 22% ทำให้เกิดระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในกรุงปักกิ่งได้ 

 

ความสามารถในการแพร่ระบาดของโอไมครอน BF.7

 

  • โอไมครอน BA.2.75  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 11% 
  • โอไมครอน BN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 97% 
  • โอไมครอน XBB มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 90% 
  • โอไมครอน XBB.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 139% 
  • โอไมครอน BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 111% 
  • โอไมครอน BQ.1.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7 ประมาณ 147% 

 

โอไมครอน BF.7

 

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่โอไมครอน BF.7 ที่พบในไทย จะเกิดระบาดแซงหน้าสายพันธุ์อื่น กลายเป็นสายพันธุ์หลักเหมือนที่กรุงปักกิ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75, BN.1, XBB, XBB.1,BQ.1, BQ.1.1, และ CH.1.1 ครองพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งล้วนแล้วมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BF.7  ทั้งสิ้น 

 

แม้แต่โอไมครอน BF.7 ที่พบในปักกิ่งเอง ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่า ไม่ช้าจะถูกแทนที่ด้วย  BQ.1 (หลานของ BA.5) และ CH.1.1 (เหลนของ BA.2) ที่แพร่มาจากฟากฮ่องกง