ครม. อนุมัติปรับราคากลาง "นมโรงเรียน" สอดคล้องแนวทางการปรับราคานมพาณิชย์
มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติ ปรับราคากลางจําหน่ายนม โครงการอาหารเสริม "นมโรงเรียน" 0.31 บาท/ถุง/กล่อง สอดคล้องกับแนวทางการปรับราคานมพาณิชย์ ของกรมการค้าภายใน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ คณะรัฐมนตรี (6 ธันวาคม 2565) อนุมัติปรับเพิ่มราคา กลางในการจําหน่าย ผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม "นมโรงเรียน" เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท โดย มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป ดังนี้
- "นมโรงเรียน" ชนิดพาสเจอร์ไรส์ ราคากลางเดิม 6.58 บาท/ถุง ราคากลางใหม่ 6.89 บาท/ถุง
- "นมโรงเรียน" ชนิด ยู เอช ที ราคากลางเดิม 7.82 บาท/กล่อง ราคากลางใหม่ 8.13 บาท/กล่อง
สําหรับการปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่าย "นมโรงเรียน" ถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมติ ครม.ก่อนหน้านี้ (23 ส.ค. 2565) ปรับราคารับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.5 บาท /กก. ตามต้นทุนการผลิตน้ำนมโคที่เพิ่มขึ้นจากค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤต พลังงานสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุน การผลิตนมโรงเรียนในส่วนของค่าน้ำนมโคเพิ่มขึ้น
โดยการคํานวณราคากลาง "นมโรงเรียน" ใหม่ยังสอดคล้องกับแนวทางการอนุญาตปรับราคานมพาณิชย์ ของ กรมการค้าภายใน ที่อนุญาตให้ปรับราคาเฉพาะต้นทุนน้ำนมดิบน้ำนมโค 1 กก. สามารถนําไปผลิตนมโรงเรียนได้ประมาณ 5 ถุง/กล่อง (ปริมาณ 200 กก. /ถุง/กล่อง ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.31 บาท ถุง/กล่อง)
ทั้งนี้ มติคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้เห็นชอบการปรับเพิ่มราคากลาง "นมโรงเรียน" ดังกล่าวแล้ว และสําหรับ ภาคเรียนที่ 2/65 (เดือน พ.ย. 65 - มี.ค. 66) และภาคเรียนที่ 1/66 (เดือน พ.ค. 66 - ก.ย. 66)
ในกรณีที่มีการปรับเพิ่มราคากลาง "นมโรงเรียน" ในส่วนงบประมาณ สำหรับ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน สำหรับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักปลัด กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จะมีภาระงบประมาณในปี 2566 เพิ่มขึ้นภาพรวม 301,539,100 บาท
ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า การปรับเพิ่มราคากลางจําหน่ายนมโรงเรียนดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อนมโรงเรียน ในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เช่น ศูนย์เด็กเล็ก) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนเอกชน ยังมีงบประมาณเพียงพอสําหรับบริหารจัดการ จําหน่ายนมโรงเรียนในครั้งนี้ เนื่องจากมีจํานวนนักเรียนน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงขอตั้งงบประมาณปี 2566 ยกเว้น โรงเรียนในสังกัด กทม. และเมืองพัทยา ที่มีกรอบงบประมาณ ไม่เพียงพอ คณรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้ ปรับแผนปฏิบัติการหรือใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการก่อน หากยังไม่ เพียงพอ จึงให้เสนอของบกลางจากสำนักงบประมาณต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุน อุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศในการผลิต ซึ่งปัจจุบันโครงการฯครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา และจัดสรรนมโรงเรียนให้นักเรียนเป็นเวลา 260 วัน ต่อปีการศึกษา และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ นมโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งนายรัฐมนตรียังสนับสนุนให้เด็กไทยได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกายเจริญเติบโตอย่างเต็มที่