"ติดโควิดซ้ำ" หมอเฉลิมชัย ไขข้อข้องใจ เสี่ยงตาย 2 เท่า จริงหรือไม่ ?
"หมอเฉลิมชัย" ไขข้อข้องใจ "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตาย 2 เท่า จริงหรือไม่ ? ปัจจัยไหนบ้างบ่งบอกให้รู้ว่าอาการจะหนักหรือเบา ย้ำ เข็มกระตุ้น ยังสำคัญ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด19 ในไทย จากการรายงานที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด พบว่า โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.75 ได้ครองการระบาดในไทย แทนที่ BA.5 แล้ว
ทั้งนี้ ได้มี แพทย์ รวมไปถึงนักวิชาการได้ออกมาให้ข้อมูล รวมไปถึงงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการแพร่ระบาด โควิด19 ซึ่งล่าสุด "หมอเฉลิมชัย" น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ออกมาเผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่ง พร้อมระบุข้อความว่า ไม่ควร "ติดโควิดซ้ำ" เพราะอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากขึ้นถึง 2 เท่า และป่วยหนักมากขึ้น 3 เท่า
งานวิจัย "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตาย 2 เท่า ?
โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลการศึกษาของ คณะแพทยศาสตร์ ม.วอชิงตัน เก็บข้อมูลเวชระเบียน 5.3 ล้านคน จาก US. Department Of Veterans Affairs โดยพบว่ามีผู้ ติดโควิด 1 ครั้ง 443,588 คน และผู้ที่ ติดโควิด ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป 40,947 คน และเมื่อนำอาการของคนที่ "ติดโควิดซ้ำ" มาเทียบกับคนติดครั้งเดียว จะพบว่า
- ผู้ที่ติดโควิด 2 ครั้ง มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.17 เท่า
- ผู้ที่ติดโควิด 2 ครั้ง มีความเสี่ยงป่วยหนัก จนต้องนอน รพ. สูงเพิ่มเป็น 3.32 เท่า
- ผู้ที่ติดโควิด 3 ครั้งขึ้นไป มีปัญหาเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มเป็น 3 เท่า, ปอด 3.5 เท่า และระบบประสาท 1.6 เท่า
ซึ่งทาง "หมอเฉลิมชัย" ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน คมชัดลึกออนไลน์ ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ภายใต้ข้อจำกัด เป็นเพียงการรวบรวมกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้ต้องการให้เกิดการหวั่นวิตก เพียงต้องการให้เป็นการป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ "ติดโควิดซ้ำ" และเพื่อเป็นการกระตุ้นว่า ไทยน่าจะทำการรวบรวมข้อมูล เพื่อทำการศึกษาบ้าง และเป็นการเปรียบเทียบ ศึกษาดูว่า ผลที่ออกมานั้น จะตรงกันหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการวิเคราะห์ คาดว่าแนวโน้มผลที่ออกมา อาจต่างกันไม่มากนัก
ซึ่งการ "ติดโควิดซ้ำ" นั้น อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อายุ ภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการติดเชื้อจากธรรมชาติ หรือจากวัคซีน รวมไปถึง พฤติกรรมเสี่ยง จะเสี่ยงติดโควิดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของการใช้ชีวิตในแต่ละคน
แนวโน้มการระบาดในไทย
ในอนาคตบอกไม่ได้ว่าจะมีการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน เพราะเราไม่สามารถไปกำหนดตัวไวรัสได้ แต่เมื่อดูจากเมื่อต้นปีที่มีการระบาดมาก และลดจำนวนไป ก่อนที่จะกลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงเข้าฤดูหนาว ซึ่งครั้งนี้ไม่ต้องถึงกับกลัว หรือตื่นตระหนก แต่ควรระมัดวัง ป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย รวมไปถึงการฉีดวัคซีน ซึ่ง "หมอเฉลิมชัย" กล่าวย้ำว่า การฉีด วัคซีนเข็มกระตุ้น จะสามารถช่วยลดอาการหนักได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เพราะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุด
วัคซีนโควิด รุ่นที่ 2 ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?
วัคซีนที่ออกมาใหม่เรียกว่า ชนิด 2 สายพันธุ์ ซึ่งผลที่ออกมานั้น ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก เพราะ โอไมครอน นั้น มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนที่ออกมานั้นไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ แต่ถือว่าดีกว่าวัคซีนตัวเดิม แต่ก็ไม่ถือว่าดีที่สุด เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์หนีวัคซีนตลอด
วัคซีนโควิด ช่วยลดการเสียชีวิตในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป มากถึง 89.3%
ในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา ซึ่งโควิดระบาดไปทั่วโลก จนมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 600 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 6 ล้านคนนั้น เราจะพบว่า กลุ่มที่มีอาการค่อนข้างน้อยและเสียชีวิตน้อย คือในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนงานวิจัยมักจะทำการศึกษาทดลองในผู้ใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้กลุ่มเด็กและวัยรุ่น เป็นกลุ่มท้ายสุด ที่ได้รับการฉีดวัคซีน
จากรายงานการศึกษาขนาดใหญ่จากประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งได้เก็บข้อมูลในช่วง 12 กันยายน 2564 ถึง 23 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยว ที่มีไวรัสสายพันธุ์เดลตาเป็นหลักในปี 2564 และ โอไมครอน เป็นหลักในปี 2565 โดยเป็นการเก็บข้อมูลที่มากถึง 278,642 ราย ฉีดวัคซีนสองเข็ม 150,966 ราย และไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 60,205 ราย
กล่าวโดยสรุป
- การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 3-17 ปี สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 89.3%
- การฉีดวัคซีน 2 เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อของไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ดี มีประสิทธิผล 61.2%-66.8% แต่ป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนไม่ค่อยดี (15.9%-26%)
- ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
- ในกลุ่มวัยรุ่น จะมีประสิทธิผลมากกว่าในเด็ก
ข้อมูลดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนแม้เพียง 2 เข็ม ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น สามารถลดการเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี ส่วนป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ค่อยดีนัก จะต้องพิจารณาการฉีด วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือพิจารณาวัคซีนรุ่นที่สองชนิดสองสายพันธุ์ ที่สามารถรองรับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ด้วย