ข่าว

"โควิด19" ยังกลายพันธุ์ไม่หยุด หมอยง ย้ำ ไม่มีผลต่อการใช้ ยาต้านไวรัส

"โควิด19" ยังกลายพันธุ์ไม่หยุด หมอยง ย้ำ ไม่มีผลต่อการใช้ ยาต้านไวรัส

09 ธ.ค. 2565

"โควิด19" ยังกลายพันธุ์ไม่หยุด "หมอยง" ย้ำ การกลายพันธุ์ ไม่มีผลต่อการใช้ ยาต้านไวรัส ล่าสุด เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 เกือบทั้งหมด

"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan เปิดข้อมูลถึงกรณี การกลายพันธุ์ของ "โควิด19"

 

 

ซึ่งจากการศึกษาที่ศูนย์ศึกษาสายพันธุ์มาโดยตลอด ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์มาโดยตลอด สายพันธุ์ "โอไมครอน" เป็นสายพันธุ์ที่อยู่มาตั้งแต่ต้นปี แต่มีลูกหลานเป็นสายพันธุ์ย่อยตั้งแต่เริ่มระบาดเข้ามาเป็น BA.1 แล้วก็เปลี่ยนเป็น BA.2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา BA.5 ก็เข้ามาแทนที่

 

โดยที่ BA.4 ไม่สามารถต่อขึ้นมาได้ และใน 2 เดือนนี้ ก็ถูกแทนที่ด้วย BA.2.75 โดยที่ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 เกือบทั้งหมด และต่อไปถ้ามีการระบาด สายพันธุ์ต่างประเทศตะวันตก คือ BQ.1 และ BQ.1.1 ก็คงจะเข้ามาแทนที่ต่อไปอีก

 

 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจะมีขึ้นตลอดเวลา ส่วนระบบ ภูมิต้านทาน ในการป้องกันการติดเชื้อ ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เมื่อติดเชื้อแล้วหรือฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะผิวนอก ตัวโครงสร้างของไวรัสยังคงเดิม การกำจัดเชื้อไวรัสเพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะระบบ T เซล ยังทำงานได้ดี 

 

 

วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมา ก็จะไล่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวนอก หรือสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย วัคซีน 2 สายพันธุ์ ก็ไม่ได้เหนือกว่าวัคซีนเดิมมาก และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปอีกก็คงจะไม่ต่างกันมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์เรารู้จักและประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ความรุนแรงของโรคก็จะลดลง ประกอบกับมียารักษาที่ดีขึ้น ทุกอย่างก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยที่สายพันธุ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด ทีละเล็กละน้อย เหมือนกับไข้หวัดใหญ่

 

 

การกลายพันธุ์ของไวรัส ไม่มีผลต่อยาที่ใช้รักษา

 

ไวรัส "โควิด19" มีการกลายพันธุ์เรื่อยมา ทุกคนทราบกันดี การกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในส่วนของหนามแหลม ทำให้มีผลต่อวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันมีประสิทธิภาพลดลง และยาในกลุ่มของแอนติบอดี รวมทั้งโมโนโคลนอลแอนติบอดี มีประสิทธิภาพลดลง

 

 

ส่วนยาที่ใช้รักษา ไม่ว่าจะเป็น remdicevir และ molnupiravir มีผลต่อการแบ่งตัวของไวรัสโดยขัดขวาง RNA dependence RNA polymerase ส่วนยา paxlovid ขัดขวาง enzyme protease ไม่ได้อยู่ในส่วนที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส 

 

 

ดังนั้น การกลายพันธุ์ของไวรัสในปัจจุบันจึงยังไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของการให้ยาต้านไวรัส ในการรักษาดังกล่าว ยาต้านไวรัส ที่กล่าวถึงจึงยังมีประสิทธิภาพในการรักษาเหมือนเดิมถึงแม้ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์