ข่าว

'สังคมเสื่อม' แฝงมากับเรตติ้ง กระตุกสื่อฯใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ

'สังคมเสื่อม' แฝงมากับเรตติ้ง กระตุกสื่อฯใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ

10 ธ.ค. 2565

'สังคมเสื่อม' แฝงมากับเรตติ้ง กระตุกสื่อฯใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ : เปิดหนึ่งในงานวิจัย "การศึกษาของ Media Alert" เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 จากรายการข่าวทางทีวีดิจิทัล จำนวน 14 รายการ จาก 14 ช่องสถานี

มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสื่อมวลชน "การศึกษาของ Media Alert" เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 จากรายการข่าวทางทีวีดิจิทัล จำนวน 14 รายการ จาก 14 ช่องสถานี 

 

ที่มี่ อ.ไอซ์ - ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์จุฬา เป็นเจ้าของผลงาน

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม

พบว่า ข่าวความรุนแรงโดยเฉพาะข่าวอาชญกรรมและข่าวอุบัติเหตุ คือข่าวที่ มีสัดส่วนสูงสูดในรายการข่าวเย็น-ค่ำทางทีวีดิจิทัลที่ศึกษา และพบมากในรายการข่าวที่มีเรตติ้งหรือได้รับความนิยมสูง

ภาพรวมรูปแบบการนำเสนอความรุนแรงจากอาชญกรรม ข่าวอุบัติเหตุ ใช้ภาพและเสียงจากสถานที่เกิดเหตุ ฟุตเทจจากล้องวงจรปิด การจำลองเหตุการณ์ เป็นการสร้างกรอบ "ขยายรายละเอียดความรุนแรงของสถานการณ์" มากกว่าที่จำเป็นได้รับ 

\'สังคมเสื่อม\' แฝงมากับเรตติ้ง กระตุกสื่อฯใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ

อ.ไอซ์ ให้สัมภาษณ์กับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผ่านรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ถึงมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อมวลชน โดยได้วิเคราะห์ถึง “ปัญหาสื่อไทย ติดกับดักเรตติ้ง สังคมได้อะไร” ว่า จะต้องคำนึงถึงความสมดุล ทั้ง บทบาทหน้าที่ และความอยู่รอดขอสื่อมวลชน เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายสื่อพยายามหาจุดยืนในช่วงเริ่มแรกของการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่จะต้องแข่งขันทั้งความเร็ว เรตติ้ง โดยที่ยังไม่เข้าใจผู้รับสารมากพอ 

จึงเห็นการกระทำที่ผิดกรอบจริยธรรม หรือสถานีโทรทัศน์บางแห่งสร้างแบรนด์ดิ้งชัดเจนว่า สามารถพึ่งพาเชื่อถือได้ พยายามลดการนำเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ และความรุนแรงต่าง ๆ ลง และหาวิธีการการนำเสนอแบบอื่นเพิ่มขึ้น

 

ผศ.ดร.สกุลศรี ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการให้นิสิตระดับปริญญาโท วิจัยและศึกษาผู้รับสารว่า อยากดูข่าวความรุนแรงแบบนี้จริงหรือไม่ และสอดคล้องกับเรตติ้งที่สื่อมวลชนต้องการจริงหรือไม่ และต้องการรับชมข่าวความหวือหวา-รุนแรงหรือไม่

 

ซึ่งผลวิจัยที่น่าสนใจพบว่า ประชาชนผู้รับสาร สนใจรับชมข่าวลักษณะความรุนแรง ทั้งข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ มีการทำร้ายร่างกาย ด้วย 2 เหตุผลคือ

 

1. พบเห็นเองอยู่แล้วเป็นประจำ 2. รับชมเพราะมีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และคาดหวังว่า จะได้รับทราบข้อมูลทำให้สามารถป้องกันตัวเองได้ ปลอดภัยจากเหตุการณ์เช่นนั้น หรือนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยไม่ได้คาดหวังว่า สื่อจะเสนอแค่ภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ วนไปวนมา แต่อยากเห็นสื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาให้ด้วย

 

นอกจากนั้น ผศ.ดร.สกุลศรี ยังอธิบายถึงความจำเป็นของสื่อมวลชนในการสร้างภาพเคลื่อนไหวจำลองเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อให้ผู้รับชมสามารถเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้นว่า ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ แต่หากเกิดพฤติกรรมเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ก็ถือว่าไม่จำเป็น

 

ดังนั้น ขอบเขตการนำเสนอที่เหมาะสม จึงอยู่ที่สามัญสำนึก การนำเสนอข่าวประกอบภาพจำลอง หรือแอนนิเมชัน สามารถนำได้ แต่ถ้าผู้ชม รับชมแล้วเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ รู้กระบวนการ และวิธีการการประกอบอาชญากรรม ถือว่าเกินขอบเขต หรือถ้าดูแล้ว เกิดความรู้สึก เศร้า หดหู่ เกลียดชังต่อคนบางกลุ่ม เกิดการแบ่งแยกเหมารวม ก็ถือเกินขอบเขตเช่นกัน

 

“คุณหมอด้านจิตวิทยาเคยสะท้อนให้ฟังว่า ช่วงไหนก็ตามที่สื่อมวลชนรายงานรูปแบบ วิธีการฆ่าตัวตายแบบใดแบบหนึ่งซ้ำ ๆ จะมีเคสแบบนั้นกลับเข้ามาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพราะผู้รับสารค้นหาข้อมูลได้ในโซเชียล ว่าวิธีการทำเหตุการณ์นั้น ๆ คืออะไร แม้สื่อฯ อาจจะคิดว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น แต่กลายเป็นว่า กระบวนการละเอียดเกินไป จนเกิดการเลียนแบบทำตาม” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว

 

ผศ.ดร.สกุลศรี ยังแสดงความกังวลต่อการนำเสนอข่าวเรียกเรตติ้ง ผ่านการนำเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ นำเสนอภาพความรุนแรง อุบัติเหตุ ดราม่าเป็นข่าวยาว แต่ยังได้รับความนิยมอันดับต้นว่า ควรเป็นการอธิบายอื่น หรือใช้กราฟฟิคภาพนิ่งแทน หรือทำเป็นแผนภาพแผนภูมิ เพื่อให้คนดูรู้เพื่อไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าภาพมีความละเอียดเกินจนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ก็ไม่จำเป็น

 

พร้อมยกตัวอย่างบางประเทศมีการเบลอภาพ เพื่อลดทอนความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต้องวนภาพซ้ำเรื่อย ๆ เพราะผู้ชมที่รับชมข่าวอุบัติเหตุ หรือข่าวอาชญากรรม ต้องการทราบเพียงว่า ประเด็นดังกล่าวจะถูกป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจ และได้ประโยชน์หลังจากที่ดูข่าวดังกล่าวแล้ว มากกว่าเฉพาะรายละเอียดของความรุนแรงเท่านั้น

 

ผศ.ดร.สกุลศรี ยังกล่าวถึงปัญหาการนำเสนอเนื้อหาข่าวที่เกิดขึ้นจากผู้ส่งสารที่มีอิทธิพลต่อสังคม เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ และเพจต่าง ๆ ที่มีการใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย จนมีผู้ชมติดตามจำนวนมาก ทำให้ได้รับค่าโฆษณา จนสื่อมวลชนต้องปรับตัวเลียนแบบแนวทางการนำเสนอตามว่า ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นปัญใหญ่เช่นเดียวกันว่า จะทำอย่างให้กลุ่มผู้ส่งสารที่มีอิทธิพล สามารถรักษาจริยธรรม ซึ่งหลายเวทีการเสวนา ได้มีการพูดคุยกับเอเจนซี่โฆษณา หรือแบรนด์สินค้าใหญ่ที่จะลงโฆษณาว่า ควรพิจารณาสนับสนุนโฆษณา จากภาพลักษณ์ของสื่อต่าง ๆ ที่จะติดไปกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ด้วย

 

รวมถึงยังมีนักวิชาการ ทำวิจัยเรื่องการทำคุณภาพของเรตติ้ง เพื่อหาดัชนีชี้วัดว่า อะไรคือการวัดผลกระทบทางสังคม อย่างในต่างประเทศบางองค์กรสื่อ นอกจากจะวัดเรตติ้งในเชิงปริมาณว่ามีคนติดตามเท่าใดแล้ว ยังมีการพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม ด้วยการใช้กระบวนการวิจัยประกอบ เพื่อที่จะได้สะท้อนกลับไปให้สังคมเห็นว่า จะต้องสนับสนุนสื่อมวลชน หรือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคม ที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาในสังคมร่วมกัน เพื่อไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาสื่อมวลชนเพียงอย่างเดียว

 

แต่จะต้องครอบคลุมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมด้วย เพราะปัจจุบัน เมื่อสื่อมวลชนกระแสหลัก เห็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมทำงานข่าวแล้วมียอดผู้ชมจำนวนมาก ก็หันไปทำตาม จนกลายป็นว่า สื่อที่ควรจะทำเรื่องที่ชัดเจน กลับเบลอ จนทำให้สังคมเหมารวมว่า ทั้งหมด เป็นสื่อประเภทเดียวกัน

 

"สื่อฯ ต้องเป็นสื่อฯ อาชีพที่มีกรอบจริยธรรม มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นรู้ว่า มีกระบวนการแบบนี้ แล้วถ่ายทอดวิธีคิดแบบนี้ ไปยังกลุ่มอื่น ๆ ให้เห็นชัดขึ้น แม้อาจจะไม่ใช่ 100% เพราะคอนเทนท์ครีเอเตอร์ ไม่เหมือนกับสื่ออาชีพที่เป็นสำนักข่าว เพราะแต่ละคนมีวิถีทางในการทำแตกต่างกัน แต่ต้องแยกให้ชัดเจนว่า เรากำลังรับสารจากคนกลุ่มไหน ขณะเดียวกันต้องให้ความเข้าใจกับผู้รับสารด้วยว่า มีข้อมูลข่าวสารแบบไหน ซึ่งเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวกำลังตรวจสอบ" ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว

 

ส่วนความท้าทายของสื่อมวลชนทั้งการแข่งขัน ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการนำเสนอข่าวคุณภาพในการแก้ไขปัญหาสังคม ใช้เวลาในการผลิตและหาข้อมูลนาน จนทำให้สื่อเลือกที่จะไม่นำเสนอนั้น ผศ.ดร.สกุลศรี เห็นว่า บางข่าวอย่างข่าวอุบัติเหตุ หรือข่าวอาชญากรรม จะมีรูปแบบการเกิดเหตุที่เหมือนกัน เนื่องจากปัญหายังไม่ถูกแก้ไข ซึ่งก็มี "เครือข่ายวารสารศาสตร์เพื่อทางออก” ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักข่าวหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อวิจัยหาทางออกถึงปัญหาดังกล่าว

 

ซึ่งผลวิจัย ก็ระบุว่า ความจริงแล้วข่าวอุบัติเหตุ หรืออาชญากรรมต่าง ๆ สามารถผลิตเก็บไว้ เพื่อรอการนำเสนอไว้ได้ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้สามารถกลับมาเกิดขึ้นเหตุขึ้นอีกก็ได้ และเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก ก็สามารถหยิบข้อมูลที่เตรียมไว้ มาปรับปรุงให้ทันสมัย ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใช้พื้นฐานข้อมูลความรู้บางอย่างมานำเสนอให้กับผู้รับสารได้ หรือใช้การสังเกตของผู้สื่อข่าวจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

เช่น ข่าวทัศนวิสัยบนทางรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นักข่าวเห็นว่า มีต้นไม้มาบัดบังทัศนวิสัย ก็สามารถหยิบยกมานำเสนอให้เกิดการแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งผู้สื่อข่าว ควรจะเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารให้สังคมทราบ จากสิ่งที่ผู้สื่อข่าวเองสังเกตเห็น

 

หรือรวมไปถึงการดึงประชาชนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ที่ในสังคมมีกลุ่ม “พลเมืองเชิงรุก” ที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคม ระดมข้อมูลกับประชาชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เสียงของประชาชนดังขึ้น จนทำให้ผู้ที่ต้องแก้ไขปัญหา ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ และต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานั้น เพราะไม่สามารถทัดทานเสียงของคนสังคมได้ 

 

ซึ่งประเด็นข่าวเหล่านี้ จะทำให้ข่าวที่กำลังหาทางออกจากปัญหา สามารถขยับได้เร็วขึ้น และสื่อฯ เอง ก็ลงทุนน้อยลง และยังสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนได้อีกด้วย