สปสช.ชวน ผู้ใช้ “บัตรทอง” สิทธิว่าง 2 แสนราย ถูกใจคลินิกไหน ลงทะเบียนได้เลย
สปสช.ชวนคนกรุง สิทธิว่าง 2 แสนราย ถูกใจคลินิกไหน ลงทะเบียนได้เลย ย้ำ หากไม่ถูกใจสถานบริการเปลี่ยนได้ 4 ครั้ง/ปี
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารจากสำนักอนามัย กทม. สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมคลินิกกล้วยน้ำไท สาขาลาดพร้าว 80 ซอยลาดพร้าว 80 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคลินิกชุมชนรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ หรือ Model 5 ที่เป็นหน่วยบริการให้บริการประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ "บัตรทอง"ในพื้นที่ กทม. และยังพร้อมเปิดให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังเป็น “สิทธิว่าง” ใน กทม. ได้ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ยกเลิกสัญญา "บัตรทอง" โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งในพื้นที่ กทม. เนื่องจากพบการเบิกจ่ายงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. จำนวน 2.3 แสนราย กลายเป็น “สิทธิว่าง” คือยังไม่มีหน่วยบริการประจำ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่มีสิทธิว่างใน กทม. จะสามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิทุกแห่งตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่การมีหน่วยบริการประจำเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะจะได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องโดยมีเจ้าภาพที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้มีประชาชนที่มาลงทะเบียน "บัตรทอง" เลือกหน่วยบริการต้นสังกัดแล้วประมาณ 3 หมื่นราย จึงอยากเชิญชวนประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ยังเป็น “สิทธิว่าง” ให้เข้ามาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการด้วย โดย สปสช. เปิดให้ประชาชนใน กทม. สามารถเลือกหน่วยบริการ หรือคลินิกเองได้ตามที่ตนเองพอใจ
“ตรงนี้ หากประชาชนเลือกหน่วยบริการประจำไปแล้ว แต่ไปใช้บริการแล้วรู้สึกไม่ถูกใจ สปสช. ก็ยังเปิดให้สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้ถึงปีละ 4 ครั้ง โดยการลงทะเบียนและการเปลี่ยนหน่วยบริการนั้น สามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ย้ำว่าประชาชนสิทธิบัตรทองว่าง หรือยังไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการ เมื่อเจ็บป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ทั่วประเทศเช่นเดิม แต่หากมีหน่วยบริการต้นสังกัดที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยมากกว่า
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช.และ กทม.ได้ร่วมกันพยายามที่จะอุดช่องว่างในการให้บริการสุขภาพกับประชาชนสิทธิบัตรทอง แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าหน่วยบริการต่างๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ไม่สามารถรองรับประชาชนได้ทั้งหมด จึงเกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลมาช้านาน การพัฒนาระบบหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กทม. กับ สปสช. ในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนเริ่มมีความเข้าใจและมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น และยังเข้าถึงข้อมูล ช่องทางในการเข้ารับบริการสุขภาพ ขณะเดียวกัน สปสช.มีการทำงานที่มีความยืดหยุ่น และเพิ่มหน่วยบริการไปยังร้านยาคุณภาพ หรือให้คลินิกในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้ามาเป็นหน่วยบริการ ซึ่งมีโรงพยาบาลแม่ข่ายที่จะคอยสนับสนุนทางการแพทย์ หรือระบบการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นการเชื่อมระบบบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม.ดำเนินการสนับสนุน และทำงานร่วมกันกับหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลในสังกัดกทม. พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบของ สปสช. ที่หากมีการดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากหน่วยบริการปฐมภูมิมีความซับซ้อน จะมีบุคลากรแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่ายในสังกัด กทม. คอยสนับสนุนเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และเชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนกรุงเทพฯ สิทธิบัตรทอง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ประชาชนสิทธิว่างในพื้นที่ กทม.จำนวน 2 แสนราย สามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ 2. ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง และ 3. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 6 และ 4. ลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเองได้ที่ที่ทำการของ สปสช. ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สปสช. http://mscup.nhso.go.th/mastercup/
อนึ่ง หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการรูปแบบใหม่ มีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ (แม่ข่าย) จะมีเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างน้อย 1 แห่ง และสามารถให้บริการปฐมภูมิได้ครบตามเกณฑ์คุณสมบัติ โดยอาจมีเครือข่ายหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านระดับปฐมภูมิได้ กรณีเกินศักยภาพในการรักษาจะส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเดิมคลินิกชุมชนอบอุ่นขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ/ปฐมภูมิ ต่อมาในปี 2563 สปสช. ยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก สปสช. จึงได้ปรับปรุงรูปแบบหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการรูปแบบใหม่ สำหรับรูปแบบใหม่นั้น ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขตามหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการปฐมภูมิภายในเครือข่ายเดียวกันได้ จึงส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวก หยืดหยุ่นในการรับบริการเพิ่มมากขึ้น