ข่าว

"เงินสงเคราะห์บุตร" จ่ายเพิ่มเป็น 800 บาท เช็คเงื่อนไข-ขั้นตอนรับเงิน

"เงินสงเคราะห์บุตร" จ่ายเพิ่มเป็น 800 บาท เช็คเงื่อนไข-ขั้นตอนรับเงิน

14 ธ.ค. 2565

พ่อแม่ได้เฮ "เงินสงเคราะห์บุตร" รัฐจ่ายเพิ่ม "ผู้ประกันตน" ผ่าน ประกันสังคม เป็นเดือนละ 800 บาท เช็คเงื่อนไข-ขั้นตอนรับเงิน แบบละเอียด

ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม หลายคนน่าจะพอทราบดีอยู่แล้ว สำหรับสิทธิที่ผู้ประกันตนควรได้ กรณีคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิในการรับเงินสงเคราะห์บุตร จากสำนักงานประกันสังคม ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดไปจบครบ 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งเดิมได้รับเดือนละ 600 บาท ล่าสุด เพิ่มเป็น 800 บาท ตามประกาศกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 มาแล้ว

 

น.ส.ทิพานัน  ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเพิ่มจำนวนเงินดังกล่าว เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน และภาคแรงงาน ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป

 

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับสิทธิ

 

1. เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 39

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ผู้ที่ทำงานมีรายได้ประจำ โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมคนละ 5% ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย
  • ผู้ประกนตนมาตรา 39 คือ เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)
  • และมาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3)

2. จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน

3. จ่ายประกันสังคมมามากกว่า 12 เดือนแล้ว ภายในเวลา 36 เดือน

4. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

5. อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

 

 

การหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร

 

  • เมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง    

 

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเงินสงเคราะห์บุตร

 

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)

2. กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม กรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ

3. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ

  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด

4. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ

  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)

4. กรณีเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด

5. กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดินทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด

6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 11 ธนาคาร ดังนี้

  1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
  3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
  6. ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
  7. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  9. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
  10. ธนาคารออมสิน
  11. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรห์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

ทั้งนี้ เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนา ให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้คุณแม่ผู้ประกันตน สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเงินสงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาที่สะดวก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สายด่วน 1506 และ www.sso.go.th